svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รวมตัวพรุ่งนี้! ฮือต้าน ม.44 อุ้ม "อธิการเกษียณ"

21 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นที่ "ล่าความจริง" เกาะติดมาตลอด คือปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องยอมรับว่าวิกฤติจริงๆ ทั้งปัญหาคุณภาพทางการศึกษา การบริหารงานที่ไม่โปร่งใส เล่นพรรคเล่นพวก จนมีการฟ้องร้อง-ปลด-เลิกจ้างกันมากมายเป็นประวัติการณ์ โดยหลักฐานที่ยืนยันถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ ก็คือ คสช.ต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เปิดทางให้เข้าควบคุมการบริหารของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งได้ กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ คสช.ยังออกคำสั่งเพิ่มเติมปลดล็อคให้ "คนนอก" ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปีที่ คสช.พยายามแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลว กำลังจะถูกประเมินจากคณาจารย์ทั่วประเทศค่ะ

ในวันพรุ่งนี้ คือวันศุกร์ที่ 22 กันยายน จะมีการประชุมเครือข่ายคณาจารย์ทั่วประเทศ ภายใต้การประสานงานของ "ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย" หรือ "ทปสท." ร่วมกับ "ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" หรือ "ปอมท." และ "ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ" หรือ CHES โดยวาระหลักของการประชุม จะมีการประเมินร่วมกันว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ผ่านมา เป็นความสำเร็จหรือล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษา

การประชุมจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษ์ภูวนาถ กรุงเทพฯ ไฮไลท์สำคัญ คือ จะมีการแถลงข่าวคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เพื่ออุ้มคนเกษียณเพียงกลุ่มเดียวให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย
ประเด็นการคัดค้านผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในมหาวิทยาลัยของรัฐ กำลังเป็นกระแสในหมู่คณาจารย์อุดมศึกษา หลังจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 37/2560 ออกมา "ปลดล็อค-เปิดทาง" ให้ "บุคคลภายนอก" ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ สามารถดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ ทำให้มีการตีความจากบางฝ่ายว่า ผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วก็สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้

แต่ต่อมาไม่นาน มีคำพิพากษาของศาลปกครอง กรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตั้งผู้ที่เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดี โดยศาลชี้ว่าไม่สามารถกระทำได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย ขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ก็ระบุเพียงให้ "คนนอก" เป็นอธิการบดีได้ แต่ไม่ได้กำหนดอายุเอาไว้ ฉะนั้นเรื่องอายุจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเดิม คือต้องไม่เกิน 60 ปี จึงสรุปว่าผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่สามารถนั่งเก้าอี้อธิการบดีได้
คำพิพากษาของศาลปกครอง ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปอีกหลายมหาวิทยาลัย เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏ และเทคโนโลยีราชมงคล ที่อธิการบดีเป็นผู้เกษียณอายุราชการแล้ว มากถึง 33 แห่ง จากสถาบันทั้งหมด 48 แห่ง
เหตุนี้เองจึงมีความเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และยังมีกระแสข่าวว่ามีบุคคลบางกลุ่มพยายามล็อบบี้ให้ผู้มีอำนาจ ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพิ่มเติม เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วเป็นอธิการบดีได้ด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงนำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มคณาจารย์เพื่อประกาศจุดยืนคัดค้าน
อาจารย์เชษฐา ยังบอกด้วยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เจตนารมณ์คือให้ "คนนอก" เช่น นักบริหารมืออาชีพ สามารถเข้าไปเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ ไม่ใช่ถูกนำไปตีความให้อาจารย์ที่เกษียณอายุแล้วเข้ามาเป็นอธิการบดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอยู่แล้ว และต้องการต่อวาระ คล้ายๆ สืบทอดอำนาจ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ถูกต้อง และเครือข่ายคณาจารย์จะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด

logoline