svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประวิตรแจง "เรือเหี่ยว" บินไม่ขึ้น รับน้ำหนักคนไม่ไหว!

21 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง"ยังคงเกาะติดการตรวจสอบความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ กรณีจัดซื้อ "เรือเหาะ-เรือเหี่ยว" ของกองทัพบก ที่ใช้ในภารกิจ "เฝ้าตรวจทางอากาศ" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณจัดซื้อสูงถึง 350 ล้านบาท แต่กลับใช้งานไม่ได้ จนต้องปลดประจำการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ล่าสุดวันนี้ มีคำชี้แจงอีกครั้งจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ


เมื่อวาน พลเอกประวิตร เพิ่งให้สัมภาษณ์เรื่องเรือเหาะเป็นครั้งแรก โดยบอกว่าไม่ได้เป็นคนสั่งยุติการใช้เรือเหาะ ฉะนั้นต้องไปถามผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท แต่ประเด็นที่สังคมยังคาใจ ไม่ใช่เรื่องการยุติการใช้ หรือ "ปลดประจำการ" แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อมา ทำให้วันนี้นักข่าวได้ไปสอบถาม พลเอกประวิตร กันอีกรอบ
พลเอกประวิตร ตอบแบบนี้ค่ะ "เรื่องเรือเหาะ ตอนแรกก็คิดว่าดี แต่พอกำลังพลนำมาใช้งานจริง แล้วคนขึ้นไป เรือเหาะก็ไม่สามารถรับน้ำหนักคนได้มาก" ไปฟังเสียงกันค่ะ
เรื่องนี้ต้องขยายความให้คุณผู้ชมฟังนิดหนึ่ง คือ เรือเหาะที่จัดซื้อมาเมื่อปี 2552 มีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก คือตั้งแต่ทดลองบิน จนคณะกรรมการตรวจรับสินค้าของกองทัพ ไม่กล้าลงนามตรวจรับ เนื่องจากเรือเหาะไม่สามารถขึ้นบินได้ในเพดานบินที่ระบุในสเปค คือ ราวๆ 10,000 ฟิต หรือ 3 กิโลเมตร แต่กลับบินได้จริงเพียงแค่ 3,000 ฟิต หรือ 1กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยิงจากภาคพื้นดิน

ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามมานาน และกองทัพเคยชี้แจงเมื่อปี 2553 ว่า เพดานบิน 10,000 ฟิต หรือ 3 กิโลเมตรนั้น นับเฉพาะเรือเหาะเปล่าๆ แต่เมื่อนำกำลังพลขึ้นไปบินด้วย ซึ่งตามสเปคมีกำลังพลขึ้นไปขับได้ 1 คน ทำให้น้ำหนักเพิ่ม บินไม่ขึ้น เรื่องนี้ก็น่าคิดว่าข้อตกลงในสัญญาจริงๆ เป็นอย่างไรกันแน่ จะเป็นไปได้หรือที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดสเปคเพดานบินจากเรือเหาะเปล่าๆ แต่พอมีคนขึ้นไปขับ กลับบินได้ไม่สูงพ้นระยะยิงจากพื้นดิน เพราะเรือเหาะเป็นยุทโธปกรณ์ทางความมั่นคง แต่วันนี้ พลเอกประวิตร ก็ชี้แจงแบบเดียวกันนี้แหละค่ะ
นักข่าวยังถามต่ออีกว่า กองทัพบกต้องรับผิดชอบกับงบประมาณที่สูญเสียไปหรือไม่ เรื่องนี้ พลเอก ประวิตร ซึ่งนั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในยุคที่มีการจัดซื้อเรือเหาะด้วย ถามกลับว่า "จะให้รับผิดชอบอย่างไร" พร้อมกับยืนยันว่ากองทัพตั้งใจทำงานเพื่อให้ทั้งประชาชนและทหารมีความปลอดภัยจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียของกำลังพล 1 คน ถือว่ามีคุณค่าในระดับไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่ก็บอกว่าหากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.จะเข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณ ก็สามารถตรวจสอบได้เลย เพราะกองทัพไม่ได้นำงบประมาณไปใช้ในทางที่เสียหาย
นี่เป็นคำชี้แจงจากผู้รับผิดชอบอย่าง พลเอกประวิตร ซึ่งต้องบอกว่ารับผิดชอบทั้งในอดีตและปัจจุบันเลย เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีกลาโหมทั้ง 2 ยุค คือยุคที่มีการจัดซื้อเรือเหาะ และยุคที่มีการปลดประจำการ / เรื่องนี้ยังไม่จบนะคะ จริงๆ แล้วเรือเหาะไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องเพดานบิน แต่ยังมีปัญหาเรื่อง "ระยะเวลาที่ทำการบิน" ที่เรียกว่า "ชั่วโมงบิน" ด้วย พรุ่งนี้เราจะนำข้อมูลมาตีแผ่ให้ทราบกันต่อค่ะ

logoline