svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ดับไฟใต้ล่ม ฝันค้าง "พื้นที่ปลอดภัย"

15 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืดเยื้อยาวนานกว่า 13 ปี โดยรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการ "พูดคุย" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ แต่สุดท้ายไม่สามารถที่จะยุติความรุนแรงลงได้

การพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่าง เรียกว่า "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีประเทศมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" และมี "กลุ่มมารา ปาตานี" เป็นตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับคณะทำงานของรัฐบาลไทย
ที่ผ่านมารัฐบาลไทย 2 ชุด รวมถึงรัฐบาล คสช.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการ "พูดคุย" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ "แบบเปิดเผย-เป็นทางการ" ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อยุติความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง การพูดคุยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงขั้นตอนสำคัญ คือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นอำเภอนำร่อง คล้ายๆ "พื้นที่หยุดยิง"
ล่าสุดมีการประชุมคณะพูดคุยชุดเล็กที่ประเทศมาเลเซีย กำหนดวันประชุมระหว่างวันที่ 11 -13 ก.ย.ที่ผ่านมา มีวาระสำคัญคือ "กำหนดพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกร่วมกัน" แต่มีข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า การประชุมต้องยุติลงเร็วกว่ากำหนด คือตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา
ประเด็นหลักที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ คือ คณะพูดคุยของรัฐบาลต้องการให้กำหนด "อำเภอ" ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเสนอชื่อขึ้นมาหลายๆ อำเภอเพื่อพิจารณาจนถึงขั้นตอนต้องตัดสินใจ แต่ฝ่าย มารา ปาตานี ต้องการให้กำหนดกรอบการทำงานสำหรับพื้นที่ปลอดภัยก่อน
ที่น่าสนใจคื แนวคิดของ มารา ปาตานี ยังไม่ได้รับความร่วมมือจาก บีอาร์เอ็น จึงทำให้การหารือยังไม่เกิดผล ขณะเดียวกันยังเกิดข้อถกเถียงกันในวงกว้าง ว่า หากตกลง "อำเภอนำร่อง" ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว จะประกาศต่อสาธารณะหรือไม่ เพราะการประกาศพื้นที่ปลอดภัยต้องโปร่งใส ประชาชน สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยจริง ได้ผลจริง
ขณะเดียวกัน มารา ปาตานี ก็จะได้อำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ข้อเสนอใหม่ๆ ของ มารา ปาตานี มีน้ำหนักที่รัฐบาลต้องรับฟังมากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้น หรือเกิดเหตุเหมือนเดิม แสดงว่า มารา ปาตานี ควบคุมกองกำลังในพื้นที่ไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของ มารา ปาตานี เอง และอาจจะมีผลต่อกระแสสนับสนุนของประชาชนต่อการพูดคุย จึงทำให้บางฝ่ายเสนอให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยแบบ "ปิดลับ" หรือ ไม่เปิดเผย เพราะหากประกาศต่อสาธารณะ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายต่อต้านการพูดคุย สามารถระดมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่นั้นๆ เพื่อทำลายกระบวนการ ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนสอดคล้องกับข้อมูล พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับ ว่า การพูดคุยยังไม่เรียบร้อย หาข้อยุติไม่ได้ ต้องนัดครั้งต่อไป สำหรับพื้นที่ปลอดภัย เชื่อว่าหากมีการเปิดเผยชื่ออำเภอออกมา ก็จะทำให้ถูกจับตามากกว่าจะมีความปลอดภัยเกิดขึ้น

logoline