svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง "มือปืนป็อบคอร์น"

27 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอุทธรณ์ ชี้ หลักฐานโจทก์อ่อน มีพิรุธน่าสงสัย ตั้งแต่ภาพถ่ายเปรียบเทียบจำเลย-มือปืนป๊อบคอร์น ไร้สื่อมวลชนยันการถ่ายภาพ ลายนิ้วมือแฝงที่เกิดเหตุ-อาวุธปืน

เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง นายวิวัฒน์หรือ ท็อป ยอดประสิทธิ์ จำเลยคดีฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ กรณีถูกกล่าวหาเป็นมือปืนป็อบคอร์น ยิงใส่ระหว่างการชุมนุม กปปส.ปะทะเสื้อแดงแยกหลักสี่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57
โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ มีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนการเลือกตั้งส.ส.กับผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งที่แยกหลักสี่ใกล้ห้างไอที สแควร์โดยมีผู้ใช้อาวุธปืนชนิดต่างๆ ยิงตอบโต้กระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุน 4 ราย โดย 1 ในนั้นได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.58 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยแล้วจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ได้กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกหรือใหม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากบุคคลต้องสงสัย 22 คนรวมถึงชายชุดดำสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า ซึ่งถือถุงใส่ข้าวโพดสีเขียวเหลือง โดยมีการตรวจสอบภาพบุคคลดังกล่าวจากกล้องวงจรปิดของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ติดตั้งอยู่ใต้สะพานข้ามแยกหลักสี่ และจากภาพเหตุการณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ตรวมทั้งการนำภาพเคลื่อนไหวมาบันทึกเป็นภาพนิ่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสน.ทุ่งสองห้อง ได้นำภาพเหตุการณ์ที่บันทึกในแผ่นซีดีซึ่งเป็นวัตถุพยานมีภาพชายถือถุงใส่ข้าวโพดสีเขียวเหลืองขณะเดินกลุ่มตามถนนแจ้งวัฒนะแล้วต่อมาพบชายดังกล่าวแต่งกายคล้ายกันแต่สวมหมวกไหมพรมเปิดหน้า นำมาเปรียบเทียบกันชายที่ปิดบังใบหน้าปรากฏว่ามีรูปร่างลักษณะเหมือนกันจึงเชื่อว่าชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าและถือถุงข้าวโพดคือจำเลยจนเป็นเหตุให้มีการจับกุมจำเลย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีดังกล่าวพ.ต.ท.นพดล ดรศรีจันทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่า มีร่องรอยการตัดต่อข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแผ่นซีดีของกลางดังนั้นเมื่อข้อมูลที่ฝ่ายสืบสวนได้มาจากสื่ออินเทอร์เน็ตแล้วทำการคัดลอกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวมาเก็บไว้ในแผ่นซีดีก็เป็นข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถนำเข้าข้อมูลและคัดลอกข้อมูลดังกล่าวมาโดยง่าย และโจทก์ไม่มีพยานบุคคลผู้ทำการบันทึกภาพในที่เกิดเหตุมายืนยันได้ว่ามีการบันทึกภาพมาจากสถานที่เกิดเหตุและในวันเวลาเกิดเหตุ แม้โจทก์อ้างว่ามีการบันทึกภาพเหตุการณ์จากสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และภาพถ่ายประกอบที่มีชายชุดดำของสำนักข่าวมติชนซึ่งโจทก์อ้างว่าภาพชายชุดดำคือจำเลยยกถุงใส่ข้าวโพดที่ภายในมีอาวุธปืนเล็งยิงไปทางฝั่งผู้สนับสนุนการเลือกตั้งนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมช่วงที่ปิดใบหน้าและเปิดหน้าก็ยังไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันเนื่องจากไม่เห็นลักษณะรูปร่างและสิ่งสำคัญอื่นๆ คงเห็นเพียงแต่หมวกไหมพรมสีดำซึ่งภาพที่คลุมหน้าก็เห็นแต่ดวงตา ปาก และไหล่ ซึ่งเป็นการยากที่จะยืนยันได้ว่าบุคคลดังกล่าวคือจำเลย เพราะเหตุว่าบุคคลที่แต่งกายชุดดำและสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าในวันเกิดเหตุมีจำนวน 5-6 คน และภาพที่อ้างว่าคือจำเลยเปิดใบหน้าก็ไม่ได้ถือถุงใส่ข้าวโพดและไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนหรือหลัง และเป็นวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุหรือไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่อาจยืนยันว่าภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาจากการสืบสวนไม่ได้มีการตัดต่อ การคัดลอกข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตไม่ใช่พยานหลักฐานที่ได้มาจากบันทึกของเจ้าหน้าที่ซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อาจจะมีการตัดต่อแก้ไขดัดแปลงข้อมูลได้เหมือนที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ลำพังการสืบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดจากสื่อมวลชนและข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่โจทก์ได้มานี้จึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้ที่โจทก์กล่าวหาจำเลยใช้อาวุธปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงถูกผู้เสียหาย 3 คน และเสียชีวิต 1 คน ก็ได้ความจากพ.ต.ท.ชุมไชศักดิ์ อัครธรอนันต์ พยานโจทก์ที่ยืนสังเกตการณ์อยู่บนสะพานข้ามแยกหลักสี่ว่า เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นได้ก้มหน้าลงไปดูเห็นผู้ตายถูกยิงและเห็นชายชุดดำถือปืนลูกซองชนิดบรรจุลูกกระสุน 5 นัดเดินออกมาจากบริเวณใต้สะพาน สอดคล้องกับพยานโจทก์และโจทก์ร่วมอื่นที่ได้ความว่าผู้ตายถูกยิงด้วยปืนลูกซอง ขณะอยู่บริเวณใกล้ศาลพระพรหม ซึ่งส่วนของตายแพทย์ได้ผ่าตัดหัวกระสุนปืนที่มีลักษณะกลมทำจากตะกั่ว ออกจากคอผู้ตาย 1 ลูก และมีภาพถ่ายชายชุดดำสวมหมวกคล้ายหมวกไหมพรมแล้วสวมหมวกแก๊ปทับถือปืนคล้ายปืนลูกซองมาประกอบยืนยันจึงเป็นหลักฐานแสดงได้ว่าเป็นบุคคลคนละคนกับชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมถือถุงใส่ข้าวโพดที่โจทก์อ้างว่าคือจำเลย และแม้ภาพถ่ายจำเลยตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ตรงกับชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมเปิดหน้าแต่พี่ชายจำเลยก็ไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยคือชายชุดดำที่ถือถุงใส่ข้าวโพด ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยเองและคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่ามีทนายความหรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยดังนั้นคำให้การของจำเลย จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย, 134/1 และ 134/3 โดยภายหลังจากการทำบันทึกคำให้การรับสารภาพแล้ววันรุ่งขึ้นได้จัดให้จำเลยนำชี้จุดที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพทันทีโดยไม่ปรากฏว่ายึดอาวุธปืนที่อ้างว่าจำเลยใช้กระทำผิดมาเป็นของกลาง อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุขัดข้องว่าเพราะอะไรจึงนำอาวุธปืนมาไม่ได้ทั้งๆที่อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่ามีการตรวจพบลายนิ้วมือแฝงของจำเลยในที่เกิดเหตุอีกด้วย จึงเป็นพิรุธ แม้โจทก์ร่วมอ้างถึงกรณีที่จำเลยให้สัมภาษณ์นักข่าวเล่าถึงประวัติและยอมรับว่าเป็นชายชุดดำที่ถือถุงใส่ข้าวโพดแต่ขณะนั้นจำเลยอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีความเกรงกลัวว่าจะถูกทำร้ายในภายหลังหากให้สัมภาษณ์ไม่ตรงตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ กรณีจึงไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายกับจำเลยได้เช่นกัน เมื่อพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงภาพเหตุการณ์จากสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อมวลชน โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานบุคคลผู้ทำการบันทึกภาพขณะเกิดเหตุยืนยันทั้งๆที่มีประจักษ์พยานมากมายในวันเกิดเหตุ โดยมีเพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลยซึ่งเป็นพิรุธและเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยระหว่างฎีกา

logoline