svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คดียิ่งลักษณ์ จำนำข้าว" ไปถึงไหนแล้ว

21 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

21 มิ.ย.60 ครบรอบวันเกิด 50 ปี "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากทำบุญครบรอบวันเกิด เจ้าตัวบอกเล่าถึงความหนักหนาในชีวิตที่ได้ประสบช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นคดีจำนำข้าวที่เจ้าตัวคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม หากมีสิ่งใดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะร้องขอต่อศาล

ถ้าย้อนไปนับตั้งแต่ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด " ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย" เมื่อวันที่ 17 ก.ค.57 เวลานี้คดีจำนำข้าวล่วงเลยมาแล้ว 2 ปีกว่าโดยคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ซึ่งหลังจาก ป.ป.ช.ส่งสำนวนพยานหลักฐานจำนวน 5 ลัง 30 แฟ้มรวมกว่า 4,000 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ที่ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ให้อัยการสูงสุด วันที่ 5 ส.ค.57 
อัยการก็ใช้เวลาอีก 7 เดือนสรุปสำนวนสั่งฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" แล้วได้นำสำนวนเอกสารร่วม 20 ลังกว่า 60,000 แผ่น ยื่นฟ้องคดี "อดีตนายกฯ" ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 ก.พ.58จากนั้นศาลฎีกาฯ ได้ตรวจหลักฐานของฝ่ายอัยการ และ"อดีตนายกฯ" แล้ว กำหนดไต่พยานอัยการ 14 ปาก ภายในเวลา 5 นัด เริ่มนัดแรกวันที่ 15 ม.ค. 59 ส่วนพยาน "อดีตนายกฯ" รวม 42 ปาก ภายในเวลา 16 นัด เริ่มตั้งวันที่ 1 เม.ย. 59
โดยเดิมศาลกำหนดวันไต่สวนพยานจำเลยให้เสร็จสิ้น นัดสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ย.59 แต่ปรากกฎว่าระหว่างการไต่สวน มีพยานทั้งพยานอัยการโจทก์ และพยานฝ่ายอดีตนายกฯ บางปากที่ใช้เวลาไต่สวนเกินเวลา และในบางช่วงพยานที่จะต้องมาไต่สวนก็ติดภารกิจ ทำให้ต้องเลื่อนเวลาไต่สวน และกำหนดวันไต่สวนเพิ่มใหม่ จนล่าสุด ศาลฎีกาฯ กำหนดวันนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ค.60 นี้
ซึ่งคดีนี้ อัยการโจทก์ ได้เริ่มความน่าสนใจในการเปิดคดีต่อศาลครั้งแรก ด้วยการนำ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสื่อมวลชน เป็นพยานชุดแรกนำสืบการรวบรวมเนื้อหาโครงการรับจำนำข้าว เพื่อเปิดประเด็นให้ศาลฎีกาฯ เห็นภาพรวมตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการ วิธีการจำนำข้าวเสียก่อน ที่จะลงรายละเอียด แยกแยะการจำนำข้าวในแต่ละส่วน
หลังจากนั้น การไต่สวนพยานโจทก์ทยอยเนื้อหาเข้มข้นแสดงให้ศาลเห็นอย่างต่อเนื่อง อย่าง นายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่นำสืบประเด็นการทำหนังสือเตือน การตรวจสอบและเสนอความห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีข้อบกพร่องหรือไม่-อย่างไร , นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นำสืบเรื่องความเสียหายจากการดำเนินโครงการ , น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. อดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว , นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ มือชำแหละโครงการรับจำนำข้าว ที่เฝ้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , 
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย , นายระวี รุ่งเรือง เครือข่ายแกนนำชาวนา , น.ส.ศิรสา กันต์พิทยา อดีตรอง ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ( สบน.) , พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาล ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เข้าตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการจำนำข้าว , นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หนึ่งในอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวชุดที่ คสช.แต่งตั้ง , น.ส.แน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นนักวิชาชีพการตรวจสอบบัญชี , นายวิศิษฐ์ ตันอารีย์ และ นายสุพจน์ ศรีงามเมือง อนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ของ ป.ป.ช. ซึ่งอัยการได้ใช้เวลาไต่สวนพยานไปรวม 10 นัดกับการไต่สวนพยานรวม 14 ปากจนจบในวันที่ 24 มิ.ย.59
แล้วเมื่อถึงเวลาของ "ยิ่งลักษณ์" อดีตนายกฯ ก็ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 5 ส.ค.59 ซึ่งเจ้าตัวได้ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์และสำนวนของ ป.ป.ช. โดยเบิกความว่าโครงการจำนำข้าว มีมาตรการป้องกันการทุจริตที่ดำเนินการอย่างจริงจัง มีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบและปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่บกพร่องของโครงการในอดีต แถม ครม.ยังกำหนดวงเงินหมุนเวียนไม่เกิน 5 แสนล้านบาท และเงินกู้ไม่เกิน 20 % และยังมีมาตรการประกันภัยข้าวเน่า ข้าวเสื่อม มีเจ้าของโกดังรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญา จึงไม่ได้ละเว้นเพิกเฉยทำให้เกิดความเสียหาย
ซึ่งนั่นก็เพียงจุดเริ่มที่ฝ่าย "อดีตนายกฯ" ลุกขึ้นสู้คดี จากนั้นทนายความจัดเต็มพยาน อีก 18 ปากมาหักล้าง พยานของอัยการโจทก์ เริ่มจากทีมรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย อย่าง นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ , นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเกษตร , นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด , นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ อดีตรองอัยการสูงสุดและอดีตหัวหน้าคณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนจำนำข้าว , นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย , นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) , 
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.คลัง และอดีตประธานกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) , นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจ , นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย , นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ , นายวีระนันท์ ทัดดอกไม้ ผู้แทนบริษัทสำรวจคุณภาพข้าวในโกดังโครงการจำนำข้าว หรือเซอร์เวย์เยอร์ ,นาย ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ , นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อายุ 59 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ , 
นายพิชัย ชุนหวชิร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายข้าวและอดีตประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เบิกความเกี่ยวกับหลักการปิดบัญชีมีความสอดคล้องกับฤดูการผลิต , พ.ต.อ.ธนกฤต อ่อนลออ รอง ผกก. สภ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เบิกความเกี่ยวกับการดำเนินคดีจำนำข้าวที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ปี 2555 เป็นประธานการตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สั่งการให้ สตช.กำชับหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบป้องกันการทุจริต , ร.ต.อ.เฉลิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เบิกความถึงการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันทุจริตโครงการจำนำข้าวในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเบิกความในประเด็นการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว และการกำหนดหลักเกณฑ์เพาะปลูกเพื่อเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าว
หลังจากฝ่าย "อดีตนายกฯ"ใช้เวลา 12 นัด จัดหาพยานทั้งนักการเมือง , ข้าราชการ และเอกชน ที่รับรู้เรื่องจำนำข้าว มาไต่สวนแล้ว จนถึงเวลานี้ฝ่ายจำเลย มีเวลาเหลือในการไต่สวนพยานอีก 3 นัด ในวันที่ 29 มิ.ย. , 7 ก.ค. และ 21 ก.ค.นัดสุดท้าย ก็ต้องลุ้นว่า ทนายความจะนำเสนอพยานที่เหลือได้ครบตามเป้าการสู้คดีหรือไม่ ซึ่งแว่วๆ มาว่า ยังมีพยานอีกร่วม 10 ปาก แต่พยานอย่าง นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ที่ฝ่ายอดีตนายกฯ ต้องการนำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายพรรคผูกพันการดำเนินโครงการจำนำข้าวต่อการแถลงสภานั้น ศาลเห็นว่าเป็นความเห็นพยานที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ศาลก็ให้ทำเป็นเอกสารความเห็นยื่นแทนการนำตัวมาไต่สวนแล้ว
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลา เมื่อไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเสร็จวันที่ 21 ก.ค.นี้ ศาลก็ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทำคำแถลงปิดคดียื่นต่อศาลภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเวลานั้นคือ 30 วันที่เป็นช่วงเวลาทั่วไปใช้ในหลายคดีแต่ก็ขึ้นดุลยพินิจของศาลและความซับซ้อนเนื้อหาคดี แต่หากนับเวลาคร่าวๆก็จะไม่เกินเดือน ส.ค.ที่ยื่นคำแถลงปิดคดี จากนั้นตามกฎมายก็จะไม่เกิน 7 หรือ 14 วัน ที่ศาลจะมีคำพิพากษา
เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ว่า "อดีตนายกฯ"และสังคมจะได้ลุ้นผลคดีจำนำข้าวในช่วงเดือน ก.ย.60 นี้
" โครงการจำนำข้าว" จะผิด หรือจะพ้นมลทินอย่างไร ภายในปี 2560 นี้ รู้ผลแน่ !! สำหรับข้อกล่าวหา นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย

logoline