svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ยิ่งลักษณ์" ร้องศาลฎีกานักการเมือง ห่วงไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้

16 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ยิ่งลักษณ์" ร้องศาลฎีกานักการเมือง ห่วงไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้ หลังพยานถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวนคดีทุจริต แต่ศาลเห็นว่าไม่มีอำนาจไปสั่ง ป.ป.ช.

"ยิ่งลักษณ์" ร้องศาลฎีกานักการเมือง ห่วงไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้ หลังพยานถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวนคดีทุจริต ศาลพิจารณาไม่มีอำนาจสั่ง ป.ป.ช. ชี้ เป็นอำนาจตรวจสอบตาม ก.ม. ขณะที่นัดไต่สวนพยานครั้งที่ 13 เช้า 29 มิ.ย.นี้
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 16 มิ.ย.60 เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 12 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดยวันนี้ ทนายความนำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเบิกความในประเด็นการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว และการกำหนดหลักเกณฑ์เพาะปลูกเพื่อเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.00 น. ก่อนที่นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวและองค์คณะ จะไต่สวนพยาน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความได้ขออนุญาตศาลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงด้วยวาจา หลังจากยื่นเอกสารร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลกรณีพยานจำนำข้าว ทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการบางราย ถูกอนุ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหา
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงต่อศาลว่า ที่ผ่านมาไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช.และอัยการโจทก์ ซึ่ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงคลัง พยานโจทก์ที่เคยนำมาไต่สวน ก็เป็นกรรมการ ป.ป.ช.และอนุกรรมการไต่สวน โดยภายหลังพยานฝ่ายจำเลยที่นำมาไต่สวนอย่าง นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง เมื่อเสร็จสิ้นการให้การแล้ว พยานถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริต รวมทั้งนายอดุลย์ ยุววิทยาพานิชย์ ที่ปรึกษารองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าด้านกฎหมาย พยานอีกคนที่จำเลยเตรียมจะนำมาไต่สวนก็เช่นกัน ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ที่อยู่ในอนุกรรมการไต่สวนคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่เป็นพยานของฝ่ายอัยการ ซึ่งลักษณะคล้ายการข่มขู่พยานดังนั้นจึงขอความเป็นธรรมต่อศาลว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานให้กับตน และเกิดความกังวลว่า หลังจากนี้จะถูกรื้อคดีเพื่อมาเร่งรัดเอาผิด
นายชีพ จุลมนต์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ชี้แจงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ก่อนการไต่สวนองค์คณะได้รับหนังสือร้องขอความเป็นของจำเลยแล้ว และได้หารือตรวจดูข้อกฎหมายแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายให้ศาลนี้มีอำนาจสั่งการดำเนินการขององค์กรอื่น ซึ่งการตรากฎหมายก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองและสังคมดำเนินการมา โดยการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีศาลจะได้มีคำสั่งเรื่องนี้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีกครั้ง
ต่อมา ทนายความได้นำ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อายุ 67 ปี อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยานให้ศาลไต่สวน โดยยื่นเป็นเอกสารประกอบ 28 หน้า ซึ่งทนายความจำเลย ได้ถามถึงการวางมาตรการเพิ่มผลผลิตชาวนาที่รัฐบาลได้ดำเนินการร่วมโครงการจำนำข้าว
โดยนายยุคล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาทำโซนนิ่งหรือการสำรวจจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกแต่ละพื้นที่เพื่อจะให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงสุด ประกอบการ การทำสมาร์ทฟาร์เมอร์ (smart farmer) เพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกรในการพัฒนาผลผลิต เช่น เรื่องปุ๋ย เทคโนโลยี โดยการสำรวจพื้นที่เกษตรในประเทศไทย มี 150 ล้านไร่ ในจำนวนนั้นเกษตรกรได้ทำนา 70 ล้านไร่ แต่เมื่อได้มีการสำรวจพื้นที่ที่ดินก็มีการจัดระดับความเหมาะสมในการเพาะปลูก 43 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือกว่า 20 ล้านไร่นั้นอยู่ในระดับเหมาะสมน้อยถึงไม่เหมาะสมซึ่งมีการจัดข้อมูลไว้ว่า ควรจัดสรรที่ดินในการเพาะปลูกพืชเกษตรอย่างอื่น เช่น การปลูกอ้อย , ยางพารา , ข้าวโพด, มันสำปะหลัง เพื่อจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆได้ปลูกพืชอย่างเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการตรวจสอบและจัดข้อมูลวางแผนนี้กระทรวงเกษตรฯได้พยายามดำเนินการมานานแล้วปีเศษ แต่การที่จะได้ผลดียังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน
นอกจากนี้นายยุคล ยังตอบการซักค้านของอัยการโจทก์ ในเรื่องการประมาณการผลผลิตว่า จะมีหน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เก็บข้อมูล เเละมีเกณฑ์เฉลี่ยไว้ล่วงหน้าว่าเเต่ละปีจะมีผลผลิตเท่าใด เเต่ในการปฏิบัติจริงผลผลิตจะตรงกับที่ประมาณการไว้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ , สิ่งเเวดล้อม , แมลง เเละปัจจัยอย่างอื่น ส่วนเรื่องที่มีการสวมสิทธิในโครงการนั้นจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากการออกใบรับรองเกษตรกรจะต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องผ่านการรับรองประชาคม ส่วนที่จะมีผู้อ้างสวมสิทธิที่ไม่ใช่เกษตรกรปลูกข้าวเองนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง
ส่วนที่อัยการโจทก์ถามว่ามีการจับกุมเกี่ยวกับเรื่องการสวมสิทธิเเปลว่าต้องยอมรับว่ามีการทุจริตนั้น เรื่องนี้ต้องบอกว่าเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีคนเกี่ยวข้องเป็นล้านคนย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้เเต่ในส่วนที่มีความผิดพลาดที่เกี่ยวกับเกษตรกรนั้นไม่มีบันทึกว่าเป็นความผิด เเต่เป็นการบันทึกว่าพบสิ่งผิดปกติเท่านั้น ซึ่งการดำเนินคดีเรื่องการสวมสิทธิเป็นเรื่องนอกเหนือจากกระทรวงเกษตรฯ ดูเเล เเต่ถ้าเรื่องนี้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดทางรัฐก็มีการดำเนินคดีทุกราย แต่ระหว่างที่ตนปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่เคยเห็นมีรายงานเรื่องการสวมสิทธิเข้ามา ซึ่งการรายงานเรื่องสวมสิทธิในพื้นที่จะเป็นการรายงานระดับจังหวัดที่ต้องรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยจังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วจะต้องรายงานต่อไปยัง รมว.พาณิชย์ ส่วนตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการเรื่องข้าวในคำสั่งระบุให้รายงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่ามีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสวมสิทธิข้าวนั้น เเม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการสั่งการโดยตรง เเต่ก็มีสั่งการในที่ประชุม ครม.ซึ่งทุกคนก็จะได้รับทราบเเละมีการตรวจสอบทั้งระบบไว้อยู่เเล้ว สำหรับกรณีที่มีคณะกรรมการโดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตรวจสอบถึงเรื่องข้าวคุณภาพเสื่อมนั้นต้องอธิบายว่าเรื่องการเก็บรักษาข้าวเป็นเรื่องอ่อนไหว มีปัจจัยตัวเเปรหลายอย่างที่ต้องเก็บรักษาข้าวตามกระบวนการไม่ให้ข้าวเสื่อมสภาพต้องพิจารณาว่าการตรวจสอบที่ ม.ล.ปนัดดาเป็นประธานได้คำนึงในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่
ภายหลังนายยุคล เบิกความเสร็จสิ้น ศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.ส่วนที่ทนายความ จะนำนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. เข้าไต่สวนเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว เป็นนโยบายพรรคการเมือง ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ย่อมมีผลผูกพันในการดำเนินโครงการตามนโยบายนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นในข้อกฎหมาย ศาลจึงให้ทนายความทำความเห็นของพยานส่งเป็นเอกสารยื่นต่อองค์คณะฯ พิจารณาภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเรื่องพยานนั้น องค์คณะฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจดำเนินการกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนบุคคลกรณีทุจริตหรือไม่ ที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงให้ยกคำร้อง

logoline