svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประยุทธ์" แจงเหตุ ไม่แถลงผลงาน 3 ปี ชี้มีคนจ้องบิดเบือนข้อมูล วอนประชาชนเชื่อใจ-ไว้ใจ

26 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"บิ๊กตู่"แจงเหตุไม่แถลงผลงาน 3 ปี"รบ.-คสช." ชี้มีคนจ้องบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร วอนปชช.เชื่อใจ-ไว้ใจรัฐบาล-คสช.


26 พ.ค. 60 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า คสช. ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เป็นระยะเวลาครบ 3 ปีแล้ว ภายใต้สภาพแวดล้อมความไร้เสถียรภาพภายในประเทศ ตามที่ทุกคนรับรู้ รับทราบกันดีอยู่แล้ว ผนวกกับ ความไม่มั่นคงของโลก ตามที่ได้ยกตัวอย่างไปขั้นต้น ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมด้วย ต่อการใช้ชีวิตของประชาชน แล้วก็เป็นแรงกดดันให้กับเจ้าหน้าที่ แล้วประกอบกับมี ปัญหาซ้ำเติมมาด้วยเรื่องปัญหาปากท้องนะครับ ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารงานมากกว่าในสถานการณ์ปกติ  ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลนี้ ก็ยังมีภารกิจมากมาย อาจจะมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา เพราะเป็นรัฐบาลที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเป็นมาหลายปีแล้ว แล้วก็เป็นรัฐบาลที่เป็นความหวังของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
"ถึงแม้ว่าปัจจัยต่างๆดังกล่าวที่กล่าวจะเป็นอุปสรรคกีดขวางการทำงานของรัฐบาลและคสช. แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่ความล้มเหลวแต่อย่างใด ผมอยากยืนยันอย่างนั้น รัฐบาลสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จาก จีดีพีร้อยละ 0.1 ในครึ่งแรกของปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2558 แล้วเราเข้ามาแล้วในปี 2557 เดือนพฤษภาคม และมีการขยายตัวต่อเนื่องตามศักยภาพและภายใต้ข้อจำกัด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และ 3.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ผมอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ระดับของความเข้าใจ ไว้ใจ และความร่วมมือของประชาชน ทุกคน ทุกฝ่าย ที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ อย่างแท้จริง และผมเองก็เชื่อว่า เมื่อสุขภาพกายและใจของเราดี เข้มแข็งแล้ว ก็จะเป็นภูมิต้านทานคุ้มกันเราให้ปราศจากโรคภัยและเชื้อโรคจากภายนอกได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในการรายงานผลความคืบหน้าการบริหารราชการแผ่นดิน ครบรอบ 3 ปี ของรัฐบาลและคสช. ตนคิดว่ายังไม่จำเป็น อาจจะไม่เป็นประโยชน์มากนัก เพราะเราก็ได้พยายามสร้างการรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่เราก็ทำทุกอย่างมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีผู้ที่พยายามรอจังหวะและโอกาส ในการที่จะบิดเบือน ข้อเท็จจริง บั่นทอนกันเอง ทั้งนี้คงไม่ใช่เป็นการติเพื่อก่อ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ผ่านกระบวนแสวงหาข้อมูลที่ครบถ้วนไม่ฟัง ไม่อ่าน ก็เลยไม่มีข้อมูลที่รอบด้าน หยิบเอาเฉพาะบางประเด็น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องแก้ไขอยู่มาโจมตี จนงานใหม่หรืองานใหญ่ทำไม่ได้ เมื่องานเล็กทำไม่ได้ งานใหญ่ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะอยู่ในกลุ่มงานเดียวกัน
"ผมอยากจะฝากว่าถ้าหากประชาชนได้มีการติดตามการดำเนินการของทุกกระทรวง หรือทุกหน่วยงาน ตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ความพยายามเหล่านั้นที่ไม่เป็นกุศลไม่มีเจตนาดีเหล่านั้น คงไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะเราต้องอยู่กันบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้ใจ ที่พี่น้องประชาชน ให้โอกาสผม รัฐบาล และคสช. ได้ทำงานตามที่ได้แถลงไว้ตั้งแต่ต้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขอสื่อทบทวนตัวเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสื่อมวลชนตนก็อยากจะขอร้อง ขอให้ทบทวน ได้มีการปรับทัศนคติใหม่ เราคิดอย่างเดิมทำอย่างเดิมกันไม่ได้แล้วต่อไปในช่วงนี้จากเดิมบางส่วนอาจจะเข้าใจกันว่าเราจำเป็นต้องรายงานข่าวให้ดึงดูดให้โดนใจ โดยอาจจะละเลยจรรยาบรรณของสื่อไปบ้าง แบบนี้เป็นการขายข่าว ไม่ใช่การขายความรู้ ประชาชนก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการทำงานของท่านเลย สื่อที่ดีๆมีอีกมากมาย ตนก็เห็นว่าพี่น้องประชาชนในปัจจุบันนั้นมีการศึกษาสูงขึ้น วุฒิภาวะเพียงพอ มีความรู้เท่าทันและรู้จักการตรวจสอบมากขึ้น ก็น่าจะสามารถแยกแยะในการเสพสื่อที่มีความรับผิดชอบ สื่อที่มีคุณภาพได้ดียิ่งขึ้นก็คงมีคนหรือสื่อส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจจะยังไม่พัฒนาตนเอง ชอบความขัดแย้ง ไม่เปิดรับความเห็นต่างๆที่มีหลายด้านด้วยกัน มาประมวล ประยุกต์ เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองให้กับสังคม 
"เพราะฉะนั้นอาจจะยังนิยมสื่อหรือนิยมการเสนอข่าว ขายข่าวแบบเดิมๆ ที่อาจจะมีผลเสียในเรื่องของการทำลายประเทศในด้านต่างๆ ทำลายสังคมและบั่นทอนบรรยากาศความปรองดองของคนในชาติ บรรยากาศของความมีเสถียรภาพในการลงทุน ในด้านเศรษฐกิจด้วย โดยอาจจะมีทั้งเจตนา ไม่เจตนา หวังดี ไม่หวังดี ซึ่งต่างฝ่าย ต่างไม่ยอมให้มีการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น แล้วข้อสำคัญคือไม่มีความรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำงานได้ช้า ช้าเกินไป เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ประเทศชาติของเรานั้น เราต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วนั้น เราไม่ควรจะถือเอาว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือไม่สนใจแต่เพียงการมี อำนาจอธิปไตยจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่หากเราไม่มีการตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านั้น กำลังปลูกฝัง เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราอาจจะห่างหายลืมเลือนหรือขาดแคลน บนเส้นทางของการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืน
โว 3 ปี ออกกฎหมาย 401 ฉบับ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พิจารณาร่างกฎหมายไปแล้ว 401 ฉบับ และมีผลใช้บังคับแล้วมีจำนวน 230 ฉบับ  ประกอบด้วย การผลักดันกฎหมายใหม่ที่จำเป็น ปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ล้าสมัย และยกเครื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งกฎหมายด้านเศรษฐกิจ กฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการและมนุษยธรรม และกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น
ลั่นไม่ได้จำกัดเสรีภาพ แต่ต้องมีกฎหมายปกป้องสถาบัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า มีหลายประเด็นที่ตนอยากให้ช่วยกันทบทวน ลองขบคิดดูว่าสิ่งที่บางคนคิดดังๆ ออกสื่อนั้น อยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผล ที่ถูกที่ควรหรือไม่ เช่น หลายคนมักพูดติดปากว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดเสรีภาพ คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ให้ถ่องแท้ อันนี้คงจะไม่ไปพูดถึงการละเมิดสถาบันซึ่งยังมีอยู่ บุคคลธรรมดาก็เราก็ยังมีกฎหมาย ในเรื่องของการฟ้องหมิ่นประมาท แต่เราก็ยังต้องดูแลสถาบันที่เคารพศรัทธาของคนไทย กฎหมายฉบับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน แล้วพระองค์ท่านก็ปกป้องพระองค์เองไม่ได้ ฉะนั้นสถาบันก็มีแต่พระเมตตามาโดยตลอด  มีการลดโทษให้ มีการนิรโทษให้ตลอดมา 
"ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้ ก็หลายคนก็เคยตัว วันนี้มันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลยครับ อย่าแชร์ อย่าแพร่ มันผิดกฎหมายมาแล้วก็เป็นปัญหาอีก เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกครับ เช่น ประเด็นของเสรีภาพในที่ต่างๆ การเดินขบวน สร้างความวุ่นวาย การปราศรัยที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน โดยการขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ความน่าเชื่อถือนั้น เพราะว่านอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ยังกีดขวางการจราจร กีดขวางการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมลักษณะดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย กฎหมายออกมาแล้ว   มันต้องมีกำหนดเวลา มีจำนวน มีสาเหตุประเด็น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
วอนให้อยู่ในกติกา อย่ามองแค่สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดมันต้องมีกติกาอย่าไปมองรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าทุกคนมีสิทธิโน่นสิทธินี่ แต่กฎหมายอื่นมันมีข้างล่างหลายตัว จะมาอ้างอันโน้นอันเดียวมาทับอันล่าง งั้นข้างล่างก็ไม่ต้องมีกฎหมายหรอก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาทุกวันนี้  มันเป็นการดำเนินการที่มีเบื้องหน้า เบื้องหลังทั้งสิ้น หวังผลทางการเมืองด้วย อาจเดือดร้อนจริง แต่ก็มีการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการสร้างความชอบธรรม
"ท่านจะอ้างประชาธิปไตย อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเราไปปิดกั้นมัน คงไม่ถูกช่องทางที่ทุคนจะแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลก็ได้ทำให้แล้ว อาทิ ศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งทุกคนก็สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติชม ได้ด้วยตนเอง อย่าทำอะไรให้เสียภาพลักษณ์ เสียความน่าเชื่อถือของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในสายตาชาวต่างชาติอีกเลย บางคนก็เอาไปขยายความให้ต่างชาติมาโจมตีประเทศไทย  ไม่รู้เป็นคนไทยหรือเปล่าเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง อยากให้ประชาชนลองคิดตามดูว่าสิ่งเหล่านี้สมควรหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นักกฎหมาย อดีตรัฐบาล นักการเมืองบางคน ออกมากดดันให้รัฐบาล และคสช.ทำโน่นทำนี่ ที่ผ่านมาปัญหามันเยอะแยะ ก็ไม่ได้ทำไม่ได้แก้ไขกันมาก่อน แล้วก็คิดได้ตอนนี้ แล้วก็มาไล่รัฐบาลนี้ให้ทำ แล้ววันหน้าเดี๋ยวถ้าไม่มีใครทำ ผมก็คงจะทำเริ่มไว้ให้แล้ววันนั้นท่านมีอำนาจหน้าที่เข้ามาทำใหม่แล้วกัน ให้ประชาชนเขาตรวจสอบติดตามดูบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขอเปลี่ยนแนวคิดหาจุดอ่อน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นทุกคนน่าจะเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาตัวเองกันบ้างในขณะนี้ ลองมาช่วยกันทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ชี้ประเด็นปัญหาจุดอ่อน ประสบการณ์ที่ทำมาแล้วพบเจอ แล้วถ้าแก้ไม่ได้ แล้วท่านมาทำให้ตนแก้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ตนรับได้หมด ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ขอให้เสนอแนะแนวทางในทัศนะของท่านมา แต่อย่ามาโจมตีตนว่าตนทำโน่นทำนี่อะไร มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าปัจจุบันที่เขาทำกันมา เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ท่านมีแนวทางบริหารจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไรทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และโดยเฉพะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้รับการเลือกตั้งมาในวันหน้าถ้าหากได้เป็นรัฐบาล
"อีกตัวอย่างเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ อยากให้ช่วยกันพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบ อันตรายให้รอบคอบ ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ หากทุกคนต้องการความปลอดภัยสูงขึ้นก็ต้องแลกด้วย เสรีภาพที่ลดลงเสรีภาพที่ทุกคนต้องยอมรับ ว่ามันควรจะมีแค่ไหนอย่างไร ทุกประเทศในโลกก็มีเช่นนี้ เสรีภาพที่ต้องจำกัดให้อยู่ในกรอบ  ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นไปตามกฎหมาย เพราะว่าถ้าทุกคนต้องการ จะเอาทุกอย่าง ไม่มีใครทำอะไรได้ทั้งสิ้นวุ่นวายป้องกันตัวเองก็ไม่ได้ ป้องกันองค์กรก็ไม่ได้ ให้ปลอดภัยจากการถูกโจมตี หรือการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทุกคนก็ต้องมีวินัย และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่วางเอาไว้โดยเริ่มจากตนเองก่อนเสมอ ไม่ใช่พอมีปัญหา ก็โทษเจ้าหน้าที่ไม่เอาใจใส่ กฎหมายมีแต่ไม่ปฏิบัติ แบบนี้มันก็แก้อะไรไม่ได้หรอก ต้องบังคับให้ถูกต้อง ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ฝากคำถาม 4 ข้อถึงปชช. โจทย์ใหญ่เลือกตั้งได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลและคสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลนำพาให้ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้ได้  โดยตนอยากฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป คือ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร
"3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ 4.ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาผมยินดีรับฟัง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

logoline