svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ภตช.คาดร้องดีเอสไอ ข้าราชการ"กรมบัญชีกลาง" เอี่ยวฮั้ว "อี-บิดดิ้ง" ส่งเปอร์เซนต์ให้อดีตรัฐมนตรี

04 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภตช.ร้องดีเอสไอ ขยายผลสอบฮั้วประมูลอี-บิดดิ้ง คาดขรก.กรมบัญชีกลางมีเอี่ยว ทำเป็นขบวนการ.ส่งเปอร์เซนต์ให้อดีตรัฐมนตรี

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 4 พ.ค.60 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (ภตช.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบขยายผลอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและข้าราชการระดับสูง อาจเกี่ยวข้องฮั้วประมูลประกวดราคาทางราชการในระบบอี-บิดดิ้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนดีเอสไอรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ภตช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่ามีขบวนการขายข้อมูลการประกวดราคาในระบบอี-บิดดิ้ง ซึ่งเป็นความลับของทางราชการให้เอกชนภายนอกทราบราคาสุดท้ายในการประมูล เพื่อใช้แข่งขันราคาการจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ โดยขบวนการทุจริตน่าจะมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมบัญชีกลางเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมระบบอี-บิดดิ้งและมีข้อมูลการยื่นประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งราคาในการซื้อข้อมูลมีตั้งแต่ 0.9-1.5 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น โครงการมูลค่า 50 ล้านบาท จะจ่ายซื้อข้อมูล 750,000 บาท โดยคนขายข้อมูลจะใช้ชื่อสมมุติ เช่น อะลาดิน หรือพิซซ่า ทั้งนี้ ขบวนการนี้กระจุกตัวที่บริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ที่ขายระบบอี-บิดดิ้ง และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง โดยมีนายหน้าจากบริษัทเอกชน 40 รายร่วมในบวนการ ซึ่งก่อนหน้านี้ข้าราชการกรมบัญชีกลางถูกไล่ออกเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายข้อมูลในระบบอี-บิดดิ้ง

"การฮั้วประมูลในระบบอี-บิดดิ้งเป็นขบวนการทุจริตอย่างมโหฬาร จึงขอให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะข้าราชการผู้ที่มีอำนาจเข้าถึงพาสเวิร์ดในการเข้าระบบเปิดดูการประมูลมีประมาณ 3-4 คน เป็นเพียงข้าราชการระดับชำนาญการของกรมบัญชีกลางเท่านั้น แต่อาจมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง เข้ามาเกี่ยวข้องและรับส่วนแบ่งรายได้จากการขายข้อมูล. หรืออาจเกิดการโจรกรรมแฮกข้อมูลเข้าไปในระบบของกรมบัญชีกลาง จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล โดยในช่วงปีงบประมาณ 2559-2560 เสียหายไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินงบประมาณที่เสียหายไปสามารถนำไปซื้อเรือดำน้ำ หรือทำโครงการอื่นได้อีกหลายโครงการ ดังนั้น ขอให้สอบปากคำผู้ต้องหาที่ดีเอสไอจับกุมได้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ซัดทอดไปถึงรายใหญ่ในขบวนการ"นายมงคลกิตติ์กล่าว

พ.ต.ท.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ และรองโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอจะรับดังกล่าวไว้ประกอบการพิจารณา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 44 ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลผ่านระบบอี-บิดดิ้งที่จ.ยโสธร ซึ่งอธิบดีกีเอสไอ ได้มอบหมายให้สำนักคดีอาญา 2 ลงไปสอบปากคำผู้ต้องหาที่จ.ยโยธรแล้ว และหลังครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วัน ดีเอสไอจะพิจารณาว่าคดีมีความสลับซับซ้อนเพื่อรับไว้เป็นคดีพิเศษ หรือจะส่งสำนวนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ซึ่งต้องรอข้อมูลในพื้นที่มาประกอบการพิจารณาก่อน

logoline