svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชาญชัย" เผย 14 โครงการทุจริต รวมเงินเสียหายกว่า 4.5 แสนล้านบาท

07 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชาญชัย" รวบรวมความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชั่น 14 โครงการทุจริตรวมเงินเสียหายกว่า 450,000 ล้านบาท


เมื่อเวลาวันที่ 7 ก.พ.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้รวบรวมความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชั่นใน 14 โครงการในรอบ 12 ปี ระหว่างปี 2548-2560 ดังนี้

 1.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ใช้เงินกู้จากไจก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่มีการเพิ่มวงเงินจากราคากลาง หลังจากมติ ครม. ใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุ สำนักนายกฯ ปี 2535 ซึ่งขัดต่อระเบียบ และกฎหมายของสำนักนายกฯเอง ส่งผลให้รัฐ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ส่งเรื่องร้อง ป.ป.ช. แล้ว แต่ไม่คืบหน้า 
2.โครงการงบฉุกเฉินแก้ปัญหาน้ำท่วม ปี 2554 จากงบประมาณกลาง วงเงิน 120,000 ล้านบาท มีการเรียกรับสินบน ถึง 30% สร้างความเสียหายประมาณ 36,000 ล้านบาท 
3.โครงการจัดซื้อจัดจ้างยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชใน 24 จังหวัดภาคอีสาน ช่วงปี 2555-2556 เสียหาย 7,850 ล้านบาท โดย มูลค่าซื้อจริง 600 กว่าล้านบาท แต่มาบวกราคาเพิ่มหลายเท่าตัว 

4.โครงการขุดคลองสุวรรณภูมิ ที่วงเงินเดิมตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท และบานปลายเป็นหมื่นล้านโดยใช้วิธีการประมูลรวมแบบดีไซด์แอนด์บิวท์ หรือ ออกแบบไปสร้างไป มีการทุจริตวงเงิน 1,500 ล้านบาท

5.โครงการสร้างอาคารผู้โดยสารเฟสแรกของสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 147,000 ล้านบาท มีการทุจริตไม่น้อยกว่า18 โครงการ ประมาณการเสียหายที่ 40,000 ล้านบาท

นายชาญชัย กล่าวต่อไปว่า 6.โครงการระบบขนส่งรถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทางสถานีรับส่ง ผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ แอร์พอร์ต ลิ้ง เสียหาย 3 กรณี คือประการแรกคือ เบิกเงินค่าธรรมเนียมเกินจากความจริง ทำให้เสียหาย 1,194 ล้านบาท ประการที่สอง แทนที่จะได้ค่าปรับจากการส่ง มอบงานล่าช้าไปเกินกำหนด 2 ปี เป็นเงิน กว่า 6,000 ล้านบาท แต่ รฟท. กลับแก้ไขสัญญาเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ไม่ต้องจ่าย ชดเชยให้รัฐ 

และประการที่สามสาเหตุจากการส่งมอบงานล่าช้า ทำให้รัฐต้องเสียดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ของเอกชน 25,000 ล้านบาท แต่กลายเป็นรัฐต้องเสียดอกเบี้ยให้แทน พร้อมค่ารื้อถอนอีก 380 ล้านบาทเศษ 7.โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็ก 9000 วงเงินที่ ครม. อนุมัติซื้อ 2,400 ล้านบาท พร้อมการติดตั้งดูแลระบบ แต่หลังศาลแขวงแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เปิดเผยการทุจริตสินบน ข้ามชาติ ปรากฏว่าทุจริตไปถึง 1,200 ล้านบาท ซึ่งมีรายชื่อทั้ง คนทำผิด บอร์ดที่อนุมัติ แต่ ป.ป.ช. กลับยกเรื่อง โดยอ้างว่าไม่มีรายชื่อผู้กระทำผิดเพราะสหรัฐฯไม่ให้ข้อมูล 8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่มีราคากลางเกินความจริง 13,000 กว่าล้านบาท 9.ค่าเสียหายท่อก๊าซ 32,000 ล้านบาท 10. กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 2,100 MHz โดยให้ 3 บริษัทประมูลโอนเบอร์ในสัมปทานเดิม คลื่น 900 MHz ของ TOT ไป เข้าบัญชีบริษัทใหม่ได้ ทำให้รัฐ TOT สูญเสียรายได้ 2 ปี พ.ศ. 2556 2557 ประมาณ 87,000 ล้านบาท รวมยอดเงินที่รัฐเสียหาย 10 โครงการทั้งหมด 248,624 ล้านบาท

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. ขึ้นโดยได้ศึกษาเปรียบเทียบกรณี ที่โครงการของรัฐเสียเปรียบหน่วยงานเอกชน และการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด โดยได้ศึกษารวม 4 เรื่อง คือ 

1.กรณีบริษัทเอไอเอส ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯสั่งให้แก้ไขสัญญาอนุญาตสัมปทานคลื่น โทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 5 ครั้ง เสียหาย 88,000 ล้านบาทเศษ และกรณีการออก พรก. สรรพสามิต โดยศาลพิพากษาว่าเป็น คำสั่ง โดยมิชอบ รัฐเสียหายอีก 36,000 ล้านบาทเศษ รวมยอดเสียหายทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท 

2.กรณีการเลี่ยงภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร คนละ 7,941ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงิน 15,882 ล้านบาท 

3.กรณีทุจริตและค่าโง่ในโครงการก่อสร้างบ่อบัดน้ำเสียคลองด่าน แบ่งเป็นงบการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายที่รัฐจ่ายไปแล้ว 24,000 ล้านบาท และค่าโง่ตามคำพิพากษาศาลอีก 9,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีมติตามที่คณะอนุ กมธ. ปราบโกง สปท. เสนอให้ยุติการจ่ายเงิน ที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท และ ปปง. เข้ายึดอายัดทรัพย์ตามมูลฐานความผิดทุจริตและฟอกเงิน 

4.การทุจริตในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น โครงการอนุญาตให้บริษัทคิงเพาเวอร์ เช่าพื้นที่และแบ่ง รายได้ 15% จากยอดขายสินค้าและบริการให้การท่าฯ (ทอท.)แต่ไม่เชื่อมต่อระบบการบันทึกการขายและตัดยอดสินค้าในคลังทันที ( พีโอเอส) ตามบันทึกข้อตกลง (ทีโออาร์) และสัญญาที่ต้องแจ้งให้ ทอท.ทราบเป็นเวลาถึง 9 ปี เสียหายไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท รวมความเสียหาย 4 โครงการเป็นยอดเงินที่รัฐ 202,882 ล้านบาท ซึ่งอยู่กำลังดำเนินการทั้ง 4โครงการ เมื่อรวมกับส่วนแรกรวมเป็นยอดเงินที่รัฐเสียหายจากการทุจริตรวมทั้งสิ้น 451,506 ล้านบาท ซึ่งมีเอกสาร หลักฐานชัดจากการตรวจสอบ

logoline