svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"มีชัย"ปลุกสื่อ ปฎิรูปตัวเอง ก่อนร่างก.ม.ถึงมือสนช.

02 มกราคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

2 ม.ค. 59 - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป(สปท.)ร่างกฎหมายเรื่องการตั้งสภาวิชาชีพเพื่อควบคุมสื่อมวลชน ตรงนี้มองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลักหรือไม่นั้น

  
ประเด็นนี้ตอบไม่ได้ เรื่องการปฏิรูปสื่อทุกคนต้องยอมรับว่ามันจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปและถ้าไม่อยากให้คนอื่นมาปฏิรูป เราก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเองคิดเสนอแนะขึ้นมาว่าในการดูแลกันเองเราจะทำอย่างไรแล้วเสนอมาเทียบเคียงกับที่เขาเสนอไปที่สำคัญเมื่อเวลาเรื่องไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทางสนช.จะได้มีทางเลือกได้ ดังนั้นสื่อต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและร่วมมือกันคิดอ่านว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร เท่าที่ทราบสมาคมที่เกี่ยวกับสื่อก็หารือกันมานานเป็นปีแล้ว ควรจะต้องหาข้อยุติรีบทำให้เสร็จก่อนที่สปท.จะไปเสนอต่อ สนช.
 ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการออกกฎหมายของยุคนี้แตกต่างจากยุคอื่น เพราะบางทีก็รวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อทราบแบบนี้ก็ต้องรีบทำให้เร็วขึ้น แต่ก็มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าเวลาจะออกกฎหมายอะไร ต้องรับฟังความเห็นจากคนที่เกี่ยวข้องและสื่อก็ต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้เอามา เพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องรีบทำของตัวเองขึ้นมา อย่างไรก็ตามกับการทำงานของสื่อที่ทำงานร่วมกับตนมานั้น ตนมองว่าสื่อเป็นช่องทางหนึ่งทำให้กรธ.สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างกว้างขวางและที่สำคัญคือคำถามของสื่อหลายคำถามในหลายกรณี อาจไม่ทราบว่าตรงนั้นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้กรธ.นำกลับมาคิดทบทวน กรธ.ยืนยันมาตลอดว่ากรธ.รับฟังมาตลอด ฟังแม้กระทั่งคำถามที่ถาม ใครถามอะไรที่แปลกเราก็เอากลับมาทบทวน สื่อจึงเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้โฉมหน้าของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ เป็นไปในทิศทางที่เกิดขึ้นมา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา 6 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย 1.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 3.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย4.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 5.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 6.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ที่ทำการยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.เพื่อประกอบการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าร่างฯดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐาน หลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชนและไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ

logoline