svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.แร่

08 ธันวาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ....เพื่อให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ3 ขณะที่กฎหมายฉบับนี้ ถูกวิพากษ์ว่าเป็นกฎหมายเอื้อนายทุนผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมากเกินไป ผลการพิจารณาวันนี้เป็นอย่างไร ไปติดตาม กับ ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย รายงานสดจากรัฐสภา

ร่าง พรบ.แร่ พ.ศ ... มีจำนวนมาตรามากถึง 200 มาตรา และถูกพิจารณาแก้ไขในชั้นคณะกรรมการวิสามัญ ถึง 80 มาตรา จนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอภิปรายรายมาตราอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหลายภาคส่วนจับตาว่าผลจากออกมาเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก่อนเริ่มการพิจารณา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับทราบประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่ เป็นวาระแรกของการประชุม

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น.โดยมีวาระรับทราบพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และรับทราบประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

จากนั้นจึง พิจารณาร่างกฎหมายที่คณะกรรมาธิการ พิจารณาเสร็จแล้วคือร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยแร่และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้การอนุญาตและการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ เกิดดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดจนกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... บอกว่า คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน และเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก แต่ก็ยอมรับว่ายังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง ส่วนสาระสำคัญคือมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีการกำหนดเขตห้ามทำเหมืองแร่ชัดเจน คือห้ามทำเหมืองในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน เขตหวงห้ามเฉพาะ เขตพื้นที่ความมั่นคง และพื้นที่แหล่งต้นน้ำ
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศเปิด พื้นที่ใดก็ได้ เป็นพื้นที่สำรวจ ทดลอง ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับแร่

ที่ภาคประชาสังคม กังวลมากที่สุด คือ มาตรา 12 ระบุว่า เพื่อประโยชน์แก่ เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้ เป็นอันดับแรก ก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น

logoline