svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯทำ พิธีบรรจุ "ซูคอย ซุปเปอร์เจ็ต"

31 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่บริเวณท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีบรรจุเข้าประจำการเครื่องบินลำเลียง แบบ 18 (Sukhoi Superjet 100LR) หรือ ซูคอย ซุปเปอร์เจ็ตโดยมี พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตร ทำการเจิม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กับเครื่องบิน พล.อ.ประยุทธ์ ประธาน ทำการคล้องพวงมาลัยให้กับเครื่องบิน ขณะเดียวกันพระสงฆ์สวดเจริญมงคลคาถา โดยเครื่องบินทั้ง 2 ลำจะเข้าประจำการฝูงบิน 603


 

พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวรายงาน ว่า กองทัพอากาศที่มีหน้าที่เตรียมกำลัง ป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ภารกิจการลำเลียงทางอากาศ เป็นภารกิจที่มีความสำคัญ ประกอบด้วย การบินรับ-ส่งเสด็จ การสนับสนุนภารกิจพระบรมวงศานุวงศ์ การบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ และภารกิจลำเลียงทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจให้การสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ และการอพยพคนไทยในต่างแดน

 


พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวว่า ปัจจุบันภารกิจการลำเลียงทางอากาศ มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังต้องสามารถรองรับภารกิจระดับนานาชาติได้ แต่เครื่องบินสำหรับปฏิบัติภารกิจลำเลียงทางอากาศที่มีจำนวนจำกัด และสาเหตุจากการปลดประจำการอากาศยานที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประกอบกับการบรรจุประจำการยังไม่ครบตามโครงสร้างกำลังรบที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ กองทัพอากาศจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินสำหรับการปฏิบัติภารกิจลำเลียงทางอากาศเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการการใช้งานได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

 


พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวว่า ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ครม.จึงมีมติให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ จำนวน 2 เครื่อง โดยใช้งบประมาณจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในลักษณะการใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี ระหว่างปี 2557 ถึงปี 2559 กองทัพอากาศจึงได้พิจารณาจัดหาเครื่องบินที่มีคุณลักษณะ และขีดความสามารถที่สามารถตอบสนองการปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลและกองทัพอากาศได้ตามความต้องการ อาทิเช่น จะต้องมีพิสัยบินในระยะปานกลาง สามารถทำการบินได้ไกลถึง 2,000 ไมล์ทะเล ต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง การปฏิบัติการบินต้องทำการบินได้อย่างปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานความสมควรเดินอากาศและมาตรฐานสากล สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระได้ตามความต้องการที่เหมาะสม พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น อะไหล่ และการฝึกอบรม จากบริษัท Joint Stock Company "Sukhoi Civil Aircraft" สหพันธรัฐรัสเซีย

   


จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จพิธีว่า เป็นเครื่องบินเอนกประสงค์ ไม่ใช่เครื่องบินรบแต่เป็นเครื่องบินสนับสนุนทางอากาศ เช่น การบรรเทาภัยพิบัติ การขนส่ง การพยาบาล รวมถึงใช้เป็นเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ ซึ่งกองทัพอากาศได้วางแผนยุทธศาสตร์มีเครื่องบินใช้ในระยะทางสั้น ระยะทางกลาง และระยะทางไกล แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าแต่รัฐบาลจะมองไปด้วยกันแบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่จัดหาวันนี้ในวันข้างหน้าก็แพงขึ้น หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ไม่มีเครื่องบินที่เพียงพอในการขนส่งต่างๆ ทุกอย่างทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น อีกทั้งนักบินก็ได้รับการฝึกสามารถบินได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามกฎระเบียบการบิน ทั้งนี้เครื่องบินดังกล่าวทั่วโลกมีใช้อยู่300 กว่าเครื่อง เป็นความร่วมมือการผลิตของประเทศอิตาลีและรัสเซีย ดังนั้นถือว่ามีความน่าเชื่อถือได้ จากที่ตนขึ้นไปดูบนเครื่องก็ทีความเรียบร้อยและสวยงาม

   


"เราใช้งบประมาณอย่างประหยัด เครื่องบินลำนี้ถือว่าถูกกว่าอย่างอื่น และผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพทุกเหล่าทัพมี3 ระดับ โดยเฉพาะมีคณะกรรมการกำหนดความต้องการของกองทัพ เพื่อวางแผนระยะยาวจะพิจารณาอุปกรณ์ทั้งหมดในกองทัพว่ามีอะไรบ้าง และสิ่งใดยังขาดอยู่ สิ่งใดชำรุดหรือหมดอายุ ต้องซ่อมแซมก็ต้องมีการวางแผนไว้แต่ละปี ถ้าสมมติว่าไม่ได้ใหม่ อุปกรณ์เก่าก็ตามสภาพและอะไหล่ก็มีราคาแพงขึ้น เพราะหายาก เกิดปัญหาการใช้งบประมาณที่ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นขอให้เข้าใจทหารบ้าง ผมพูดในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมเห็นว่าทุกกระทรวงต้องมียุทธศาสตร์" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

   


พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อผ่านการพิจารณาก็มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำถ้าบริษัทนั้นๆรับได้ ซึ่งไม่ใช่การล๊อคสเป็ก คนไทยชีวิตมีค่า อย่าคิดว่ามีแต่ผลประโยชน์ถ้ามีความผิดก็ต้องสอบสวนกันต่อไป จากนั้นก็มาถึงกรอบการจัดทำทีโออาร์ ซึ่งจะไปผูกพันกับสิ่งที่ตกลงกับผู้ซื้อไว้ ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงต่างๆ ตนอยากให้ทำแบบกองทัพ ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้วและที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบและให้กระทรวงไปศึกษาแนวทางนี้ แต่ความต้องการทั้งหมดต้องสอดคล้องกับแผนการปฏิรูป แผนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อความต่อเนื่องเชื่อมโยง อยากให้ประชาชนช่วยแยกแยะว่าการที่ตนพยายามทำหลายเรื่องอาจมีข้อขัดแย้งบ้าง โดยเฉพาะนักการเมือง แค่ตนก็ไม่ได้ไปทะเลาะด้วย เพียงแต่ขอร้องให้กลับมาเข้าสู่ที่ตนพูด ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็มาคุยกัน ตนไม่เคยไปละลาบละล้วง เพราะต่อไปนักการเมืองก็ต้องบริหารประเทศต่อ

 


"ตอนนี้อย่ามาทะเลาะในเรื่องไม่เป็นเรื่อง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายลูกยังไม่ออก สนใจแต่เรื่องเหล่านี้ ซึ่งมันไร้สาระในตอนนี้ การเลือกตั้งมันก็ต้องจัด อย่าไปมองว่าผมต้องการอยู่ต่อและต้องสร้างปัญหา ผมไม่เคยคิดแบบนี้ เมื่อก่อนผมไม่คิดจะเข้ามา ทหารทุกคนก็ไม่อยากเข้ามา เพราะเข้ามาแล้วก็มาโดนแบบนี้ สิ่งที่ตั้งใจทำก็เข้าใจกันผิดไป ผมอดทนเพื่อประโยชน์ของประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

  


ขณะที่ พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวว่า ได้ซื้อมาทั้งหมด 3 ลำ ซึ่งขณะนี้รับมอบมา 2 ลำ เหลืออีก 1 ลำจะรับมอบภายในอีก 2 ปี เนื่องจากได้รับการอนุมัติหลัง 2 ลำแรก ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย มีหลายประเทศที่นำเครื่องบินลำเลียง แบบ18 (Sukhoi Superjet 100LR)มาใช้แต่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายถูก ทั้งนี้ยอมรับว่าเครื่องบินลำเลียง แบบ18 (Sukhoi Superjet 100LR) ถือเป็นเครื่องบินลำเเรก ที่ทางกองทัพอากาศจัดซื้อมาจากประเทศรัสเซีย ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจได้ศึกษามาพอสมควร ทั้งในเรื่อง สมรรถนะ ความปลอดภัย และขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงระยะยาวว่าจะดูแลอย่างไร ซึ่งข้อดีของเครื่องบินรุ่นนี้คือระบบการทำงาน เทคโนโลยีของตัวเครื่องจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องบินแอร์บัส ซึ่งนักบินเเอร์บัส สามารถทำการบินกับเครื่องบินลำดังกล่าวได้ประมาณ 90เปอร์เซ็นต์ เพราะถือเป็นระบบเดียวกัน โดยนักบินที่ส่งไปศึกษาเรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็มาจากนักบินที่บินเครื่องแอร์บัสทั้งสิ้น ซึ่งมีประสบการณ์การบินที่ดีอยู่แล้ว

 


เมื่อถามว่ากองทัพอากาศมีความสนใจที่ซื้อเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียด้วยหรือไม่ พล.อ.อ.ตรีทศ กล่าวว่า ขณะนี้เรามี กริฟเพน เอฟ-16 ที่กำลังจะอัพเกรด และเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ ที-50 โกลเด้นอีเกิล จากเกาหลีอยู่แล้ว ซึ่งการที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่เพิ่มเติม จะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม ภัยคุกคาม และที่สำคัญจะต้องตามเทคโนโลยีการบินให้ได้

logoline