svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่อง! ระบบยุติธรรม ส่งนักโทษพ้นคุก

29 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีคำถามขึ้นมาทันทีที่มีข่าวว่า "เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกอบจ.สมุทรปราการ จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำสมุทรปราการ ทั้งๆ ที่การรับโทษยังไม่ครบตามที่ศาลมีคำพิพากษา เกิดอะไรขึ้นกับระบบราชทัณฑ์? คนมีฐานะ มีชื่อเสียง มีบารมี ได้รับสิทธิพิเศษอย่างที่ร่ำลือกันนั้นเป็นความจริงหรือไม่...

วันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันที่นายชนม์สวัสดิ์เชื่อว่าจะได้ก้าวออกมาสู่อิสรภาพ คนในตระกูลอัศวเหมมั่นใจถึงขนาดส่งรถมารอรับนายชนม์สวัสดิ์ถึงหน้าเรือนจังหวัดสมุทรปราการ ท่ามกลางการเฝ้ารอของกองทัพนักข่าว...แต่การรอคอยก็จบลงโดยไม่มีวี่แววของนายชนม์สวัสดิ์ และไม่มีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น...

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ของคนในตระกูลอัศวเหม วันนั้นนายชนม์สวัสดิ์ควรอยู่ในข่ายพ้นโทษหลังจากติดคุกมาแล้ว 1 ปี ในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการในปี 2542 คดีนี้ นายชนม์สวัสดิ์ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และข่าวสารซึ่งสื่อมวลชนได้รับแจ้งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาคือ นายชนม์สวัสดิ์จะได้รับการปล่อยตัวก่อนครบโทษจำคุก 6 เดือน เพราะได้รับการจัดชั้นให้เป็นนักโทษชั้นดี...แต่คำถามที่ตามมาทันทีในวันนั้นคือ ใครมีอำนาจในการพิจารณาให้นายชนม์สวัสดิ์อยู่ในข่ายพ้นโทษก่อนกำหนดการพ้นโทษก่อนกำหนดอาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีนักโทษจำนวนมากที่ออกสู่อิสรภาพก่อนเวลาตามคำพิพากษา แต่เพราะเป็นนายชนม์สวัสดิ์ ทายาททางการเมืองตระกูลอัศวเหมที่โด่งดังแห่งเมืองปากน้ำและมีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดของตระกูลอัศวเหม...ข้อสงสัยและความแคลงใจจึงเกิดขึ้น

ส่อง! ระบบยุติธรรม ส่งนักโทษพ้นคุก


...คำอธิบายอย่างเป็นทางการของกรมราชทัณฑ์ในวันต่อมานั้น สังคมรับทราบกันว่า ผู้บัญชาการเรือนจำคือผู้มีอำนาจในการเสนอชื่อนักโทษให้อยู่ในข่ายพ้นโทษในโอกาสสำคัญๆ แต่เป็นคำอธิบายซึ่งคนจำนวนมากตั้งคำถาม? เพราะคนที่กำลังพูดถึงนั้น เป็นคนในตระกูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดใน จ.สมุทรปราการ

ข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้รับการเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไปยังวันที่นายชนม์สวัสดิ์ถูกศาลพิพากษาจำคุก ทันทีที่นายชนม์สวัสดิ์ก้าวเท้าเข้าสู่เรือนจำ ทนายความของนายชนม์สวัสดิ์เปิดเผยว่า เตรียมที่จะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายชนม์สวัสดิ์ คำถามที่ตามมาคือ...อะไรทำให้นายชนม์สวัสดิ์เชื่อมั่นว่าจะไม่ต้องรอถึง 1 ปี และอีก 6 เดือน ก่อนจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง?

ถึงแม้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า นายชนม์สวัสดิ์เป็นนักโทษที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคนอยู่เบื้องหลังที่ทำให้การออกมาสู่อิสรภาพของนายชนม์สวัสดิ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม กลายเป็นฝันสลาย ทีมข่าวไพรม์ไทม์ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมว่า ทันทีที่มีกระแสข่าวการพ้นโทษของนายชนม์สวัสดิ์

ก็มีคำถามจากผู้ใหญ่ในกระทรวงไปยังกรมราชทัณฑ์ว่า เกิดอะไรขึ้น? โดยคำตอบที่ได้รับคือ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำในการพิจารณา แต่คำตอบนี้ ซึ่งผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมได้รับรู้และแสดงความไม่เชื่อว่า คำตอบนี้จะอธิบายสังคมได้ เพราะคดีนี้เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเพียงสองสัปดาห์หลังจากนั้นก็มีคำสั่งย้ายนายวุฒิชัย เจนวิริยะกุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ ไปประจำกรมราชทัณฑ์ และคดีของนายชนม์สวัสดิ์...ทำให้เกิดคำถามทันทีว่า ระบบการพิจารณาการลดโทษและการขอพระราชทานอภัยโทษที่มีอยู่โปร่งใสและปลอดจากถูกแทรกแซงแค่ไหน

ส่อง! ระบบยุติธรรม ส่งนักโทษพ้นคุก


นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับทีมข่าวไพรม์ไทม์ว่า "กรณีนายชนม์สวัสดิ์เป็นโอกาสให้กระทรวงยุติธรรมได้ตรวจสอบระบการลดโทษ พักโทษและการขอพระราชทานอภัยโทษ และยอมรับว่า ระบบที่มีอยู่มีช่องโหว่ เพราะอำนาจไปอยู่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำ เพราะฉะนั้นการพิจารณาลดโทษ และการเสนอชื่อขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องทำเป็นระบบ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำเพียงคนเดียวอย่างที่ผ่านมา"

นายชาญเชาวน์ยืนยันว่า "ตามกระบวนการที่มีอยู่ นายชนม์สวัสดิ์เข้าเกณฑ์ที่จะพ้นโทษจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความจะได้รับการปล่อยตัวในทันที เพราะกระบวนการปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับการพ้นโทษต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการของเรือนจำก่อนส่งให้กระทรวงยุติธรรมกลั่นกรอง และสุดท้ายผู้ว่าราชการจังหวัดในภูมิลำเนาของนักโทษจะเป็นผู้พิจารณา ที่สำคัญคือ พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 9 สิงหาคม และกำหนดเวลาการปล่อยตัวนักโทษไว้ที่ 120 วัน ในทางปฏิบัตินักโทษจะได้รับการปล่อยตัวทีละชุด และปีนี้มีนักโทษที่กำลังได้อิสรภาพถึง 1.8 หมื่นคน"

ตรงนี้...อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมนายชนม์สวัสดิ์ถึงต้องพบกับความผิดหวังในวันที่ 9 สิงหาคม และก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า นายชนม์สวัสดิ์จะเดินออกจากเรือนจำสมุทรปราการเมื่อไหร่

ข้อสงสัยลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นกับกรณีของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนในสังคม เมื่ออยู่ดีๆ นายชูวิทย์ได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้คุม หลังจากติดคุกมาเพียงไม่กี่เดือนในคดีรื้อบาร์เบียร์ ถนนสุขุมวิท ในปี 2546

ส่อง! ระบบยุติธรรม ส่งนักโทษพ้นคุก


คดีนี้นายชูวิทย์ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อเดือนมิถุนายนก็ปรากฏภาพนายชูวิทย์ในชุดผู้ช่วยผู้คุมแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย

คำอธิบายของปลัดกระทรวงยุติธรรมในเรื่องนี้คือ "นายชูวิทย์ได้รับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เพราะได้รับการจัดให้เป็นนักโทษที่มีระเบียบวินัยและได้ทำตามที่ได้เคยสัญญาไว้เมื่อตอนรับโทษ"

จริงๆ แล้วชีวิตหลังกำแพงคุก ไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย แม้จะถูกจำกัดอิสรภาพ แต่ทางราชการยังคงสิทธิบางอย่างให้นักโทษได้ใช้ชีวิตเกือบเป็นปกติ และถ้าจะวัดจากมาตรฐานของเรือนจำกลางคลองเปรม นอกจากการขาดอิสรภาพแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษส่วนหนึ่งก็อาจไม่ได้ยากลำบากเหมือนที่คนทั่วไปคิด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน

เพราะอาหารและผลไม้ตามฤดูกาล ขนมหวาน และแม้กระทั่งพิซซ่า ซึ่งบางครั้งคนหาเช้ากินค่ำที่อยู่ข้างนอกกำแพงเรือนจำแทบไม่ได้มีโอกาสได้ลิ้มรสได้บ่อยครั้งนัก แต่พิซซ่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่หายากในเรือนจำ เพราะทีมข่าวไพรม์ไทม์เคยสำรวจเเละไปพิจารณาเครื่องเอกซเรย์ตรวจสอบอาหารและสิ่งของของเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่นักโทษสั่งซื้อจากภายนอกด้วยเงินที่ญาติพี่น้องฝากไว้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ

เจ้าหน้าที่เรือนจำกลาง คลองเปรม เปิดเผยกับทีมข่าวไพรม์ไทม์ว่า "เงินของนักโทษที่ฝากไว้กับเรือนจำรวมแล้วหลายสิบล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ญาตินักโทษนำมาฝากไว้ นักโทษสามารถขอเบิกจากเรือนจำได้วันละไม่เกิน 300 บาท เพื่อนำไปซื้ออาหาร หรือของใช้จำเป็น"

ทีมข่าวไพรม์ไทม์ทราบมาอีกว่า แต่สำหรับนักโทษที่ร่ำรวยและมีบารมี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสร้างบรรยากาศงานเลี้ยงให้เพื่อนๆ นักโทษได้ เพราะฉะนั้นการสั่งอาหารเพื่อเลี้ยงนักโทษทั้งแดนที่อาจจะมีมากถึง 800-1,000 คน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำเรื่องร้องขออนุญาตต่อผู้บัญชาการเรือนจำล่วงหน้าและ "พิซซ่า" ดูจะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ เพราะสามารถสั่งได้คราวละมากๆ โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำบอกกับทีมข่าวไพรม์ไทม์ว่า "เคยมีนักโทษสั่งมาเลี้ยงเพื่อนครั้งเดียวถึง 400 ถาด"

ติดตามชมรายการ PrimeTime กับเทพชัย ลึกกว่า! รอบด้านกว่า! ทุกวันเสาร์ 19.50-20.50 น. และ https://www.facebook.com/Primetime กับเทพชัย

logoline