svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วราเทพ" เป็นพยาน "ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจำนำข้าว

19 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

19 ส.ค. 59 --- "วราเทพ รัตนากร" ขึ้นไต่สวนพยานจำเลยนัดสอง คดีจำนำข้าว ย้ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้มวิธีการตรวจคุณภาพข้าว ชาวนาลงทะเบียน

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 19 ส.ค.59 เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 2 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
วันนี้ ทนายความจำเลย นำ นายวราเทพ รัตนกร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้าไต่สวนเพียงปากเดียว สรุปว่า ข้าวที่ชาวนานำมาเข้าโครงการจะมีการคิดคำนวณว่ามีข้าวหักหรือไม่ ซึ่งหากมีข้าวหัก ชาวนาจะได้รับเงินไม่เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในการรับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน และรัฐบาลไม่รับจำนำข้าวอายุน้อยกว่า 110 วัน โดยวิธีการตรวจสอบข้าวนั้น ณ จุดรับจำนำข้าวเปลือก จะมีเครื่องบดเพื่อตรวจสอบลักษณะและคุณภาพข้าวว่าใช้ได้หรือไม่ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ได้นำตัวอย่างข้าวเปลือกที่นำมาจำนำทดลองในห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งยืนยันชาวนาไม่ได้เร่งปลูกข้าวเพื่อจะเข้าสู่โครงการเพราะเป็นไปได้ยาก ขณะที่ชาวนาผู้ที่จะนำเข้ามาจำนำต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อให้รู้ว่าปลูกข้าวพันธุ์อะไร จำนวนเท่าใด ในพื้นที่ใด แล้วจะมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่จะปล่อยให้มีการจำนำข้าวที่ไม่มีคุณภาพเพราะจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศเรื่องการนำข้าว เข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ AFTA ของ WTO (องค์การการค้าโลก)

"วราเทพ" เป็นพยาน "ยิ่งลักษณ์" 
ไต่สวนคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจำนำข้าว



ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติให้นำเข้า ข้าวได้เฉพาะบางประเภทในสัดส่วนไม่เกิน 200,000 ตัน โดยประกาศนั้นไม่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ส่วนที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือแจ้งเตือนการทุจริตและเสนอข้อแนะนำโครงการฯ จำเลยก็รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องปฏิบัติโดยจำเลยติดตามผลและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้รัดกุมขึ้น ขณะที่พยานก็ได้รับมอบหมายให้ร่วมตรวจสอบตัวเลขของอนุกรรมการปิดบัญชี ที่ระบุผลขาดทุน 3 ฤดูกาล 5.6 แสนล้านบาทเศษนั้น ตัวเลขดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ ใน 2 กรณี คือ 1.อนุฯ ได้คิดคำนวณมูลค่าข้าวคงเหลือในบัญชีโดยใช้ราคาเฉลี่ยต่ำสุดที่มาจาก ราคาต้นทุนซึ่งเป็นราคาที่รับจำนำ , ราคาขาย และราคาที่ขายได้จริง แต่กระทรวงพาณิชย์ให้เสนอใช้ราคาต้นทุนซึ่งมีราคาที่สูงกว่า จะทำให้ตัวเลขขาดทุนน้อยลง และ 2.อตก.กับ อคส. รายงานตัวเลขข้าวแตกต่างกันถึง 2 แสนตัน โดยที่ประชุมตรวจสอบแล้วสุดท้ายพบว่า ตัวเลขอ้างข้าวหายไม่เป็นความจริง จึงทำให้ผลขาดทุนลดลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้คัดค้านตัวเลขของอนุฯ ปิดบัญชี แต่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีคำนวณที่ทำให้ตัวเลขแตกต่างกัน สำหรับการควบคุมกรอบวงเงินนั้นเป็นตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ

ขณะที่องค์คณะฯ ยังได้ถามพยานเกี่ยวกับข้อสงสัยในวิธีการรับจำนำข้าว ซึ่งนายวราเทพ ตอบว่า การรับจำนำข้าวนั้น ชาวนาใช้สิทธิ์ไถ่ถอนข้าวคืนได้ โดยต้องนำเงินพร้อมดอกเบี้ยมาคืนให้ ธกส.แล้วชาวนาจะได้รับข้าวเปลือกของตนเองกลับคืน แต่ปัจจุบันไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว ดังนั้นเมื่อรับจำนำข้าวแล้วจะต้องนำข้าวไปสีแปร ซึ่งหากชาวนาจะมาไถ่ถอน ก็จะได้รับข้าวคืนส่วนจะเป็นข้าวชนิดใด ขึ้นอยู่กับตามข้อตกลงที่ ธกส. ทำไว้กับชาวนา

"วราเทพ" เป็นพยาน "ยิ่งลักษณ์" 
ไต่สวนคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจำนำข้าว


เมื่อศาลถามว่ารัฐบาล มีวิธีตรวจสอบอย่างไรว่ามีการนำข้าวต่างประเทศมารับจำนำด้วยหรือไม่ นายวราเทพ ชี้แจงย้ำว่า เกษตรกรต้องลงทะเบียนแสดงว่ามีที่ดินทำนา ปลูกข้าวจริง ไม่ใช่มีแค่ที่นา ขณะที่รัฐบาลยังให้มีการตั้งประชาคมโดยมีคนในชุมชนร่วมรับรองว่าชาวนาดังกล่าวปลูกข้าวจริง นอกจากนี้ยังใช้ภาพแผนที่ทางอากาศ เทียบเคียงกับพื้นที่จริงด้วยว่าสามารถปลูกข้าวได้หรือไม่ อีกทั้งกระทรวงกลาโหมยังมีมาตรการให้ทหาร ร่วมกับ ตำรวจสกัดกั้นการลอบนำข้าวเขาแม้ว่าขณะนั้นจะมีเพียงข่าวลือ
เมื่อศาลถามย้ำว่า มีการตรวจสอบเกษตรกรทุกรายหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า ไม่สามารถตรวจได้ทุกรายเพราะมีจำนวนมากที่ร่วมโครงการ แต่มีการสุ่มตรวจ เช่น 25 คน จาก 100 คน โดยยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสวมสิทธิ์
ภายหลัง ศาลไต่สวน นายวราเทพ เสร็จ ก็นัดไต่พยานจำเลยอีก 3 ปาก ประกอบด้วย นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ , นายสัตว์แพทย์ ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระ และนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารบ.ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น. และให้ยกเลิกนัดไต่สวนวันที่ 23 ก.ย.นี้ เนื่องจากองค์คณะฯ ต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ส่วนที่ทนายความจำเลย แถลงว่าพยานที่ต้องไต่สวนในวันที่ 23 ก.ย.นั้นเมื่อรวมกับพยานที่ยังรอไต่สวนวันที่ 3 ก.พ.60 อีก 16 ปากซึ่งมีจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอเพิ่มไว้ไต่สวน ศาลพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรให้เพิ่มวันไต่สวนพยานจำเลยอีก 3 นัดในวันที่ 17 มี.ค. , 12 พ.ค. และ 16 มิ.ย.60 เวลา 09.30 น.
ขณะที่วันนี้ก่อนจะเข้าไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีที่เอกสารลับการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้นโยบายอย่าให้ความเป็นธรรม สั่งเร่งรัดดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายว่า ตนหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ตนคงพูดได้เท่านี้

"วราเทพ" เป็นพยาน "ยิ่งลักษณ์" 
ไต่สวนคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจำนำข้าว


ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดชายแดนใต้นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายทักษิณได้ปฏิเสธและส่งทนายความดำเนินคดีแล้ว ส่วนตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องสืบเรื่องให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พยายามจะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ และจะขอลดขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯคนนอก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะการเลือกนายกฯ ต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก่อนซึ่งเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้น ส่วนจะไปตีความขยายอะไร อย่างไรนั้นขอให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างไร การขยายความอะไรต้องคำนึงถึงกรอบที่ได้เสนอไว้เริ่มต้นด้วย อย่างไรก็ตามหากสุดท้าย ส.ว.เสนอนายกฯ คนนอกขึ้นจริงก็หวังว่าทุกฝ่ายจะไม่ทำอะไรผิดเจตนารมณ์และเคารพเสียงของประชาชน แม้ผลประชามติจะออกมาอย่างไร อยากให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงเจตนารมณ์นี้เพราะหากเดินหน้าตามกติกา ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ความสงบ
เมื่อถามว่า หากมีการแก้ข้อกฎหมายให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษากฎหมายของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บทถาวรของรัฐธรรมนูญให้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้น เบื้องต้นจำเป็นต้องเลือกนายกฯจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติตามคำถามพ่วง แต่ชั้นแรก ส.ว.สามารถร่วมเลือกได้ก็หมายความว่าทั้งบทถาวรถูกต้อง และคำถามพ่วงตามประชามตินั้นถูกต้อง ไปด้วยกันได้
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้การเปิดช่องให้นายกฯเข้ามาสูงมาก จะเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำถามพ่วงตามประชามติ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุคำถามพ่วงไป แต่ยืนยันหลักการเดิมคือ ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อ และไม่มีข้อยกเว้น คำถามพ่วงไม่สามารถมาลบล้างหลักการนี้ จำเป็นต้องเดินตามนี้

"วราเทพ" เป็นพยาน "ยิ่งลักษณ์" 
ไต่สวนคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจำนำข้าว


เมื่อถามว่า หากเป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ท้ายที่สุดเรื่องนี้ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าที่ร่างกันมานั้น สอดคล้องต้องกันกับบทถาวรและคำถามพ่วงหรือไม่
เมื่อถามถึงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเซตซีโร่ พรรคการเมือง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วกฎหมายพรรคการเมืองที่จะร่างขึ้นมีรัฐธรรมนูญกำกับอยู่แล้ว ว่าจะต้องร่างในแนวทางอย่างไร ดังนั้น เราได้แต่ติดตามดูว่าแนวทางนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ มีอะไรนอกเหนือจากแนวทางที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้หรือไม่ ค่อยมาว่ากันต่อ

logoline