svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธีรยุทธ"เชื่อ สมานฉันท์เกิดยาก

27 สิงหาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ - 27 ส.ค. 58 - ธีรยุทธชี้สมานฉันท์เกิดไม่ได้ หากเขียนกม.-ถูกบังคับ จี้รัฐกระจายอำนาจให้ชาวบ้าน เป็นฐานปชต.ประเทศเมื่อวันที่ 27 ส.ค. เวลา 13.15 น. ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานมอบรางวัลผลงานวิชาการที่สร้างสรรค์ และสร้างผลสะเทือนทางสังคมและการเมืองดีเด่นเกียรติยศ โดยผู้ได้รับรางวัลประกอบด้วย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากนั้นเวลา 13.50 น. นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ สิทธิและอำนาจของประชาชน ว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมองว่า ความคิดที่มีบทบาทต่อการปฏิบัติของสังคมไม่ใช่ความคิดที่มาจากนักคิดภาคสังคมเท่าไหร่ แต่นักคิดที่มีบทบาทมากกว่าก็คือนักคิดในสังคมภาครัฐ ซึ่งนักคิดในรุ่นเก่าก่อนปี 2500 อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นายป๋วย อึ้งภากรณ์ นายปรีดีย์ พนมยงค์ ซึ่งงานของบุคคลเหล่านี้ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ผลงานจากนักคิดรุ่นหลังไม่แน่ใจว่ามีผลสะเทือนมาจากนักคิดรุ่นหลังแค่ไหน แต่ก็ส่งผลกระทบตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือเรื่องความคิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ซึ่งขาดหายไปในช่วงเผด็จการทหารตั้งแต่อดีต ทำให้คนไม่พอใจต่อเผด็จการทหาร ไม่พอใจเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งทั้งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยเป็นปัจจัยใหม่ที่มีผลกระทบเกิดขึ้น ซึ่งมาจากผลสะเทือนจากปัญญาชนก่อนปี 2500 ทั้งหมดก็เป็นคุณูปการจากการปัญญาชนในสังคมไทยในอดีต


นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า แต่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ปัญญาชนไทยโดยส่วนรวม ก็มีคุณูประการในประเด็นย่อยๆ ในการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ อาทิ การเคารพในความแตกต่างทางสังคมไทยโดยเฉพาะการเคารพ วิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นจากชาวบ้าน หรือการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวสนใจในสิทธิการดูแลศิลปะวัฒนะธรรม และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น และหากมองโดยกว้างในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนี้เป็นผลผลิตจากสังคมสมัยนั้นเป็นหลัก ซึ่งภาพแวดล้อมในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ แต่สิ่งที่จะตามมาคือในสิทธิด้านต่าง ๆทั้งเรื่องการจัดการป่าไม้ แหล่งน้ำจะมีการขยายตัวมากขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองจะยังแยกไม่ออกจากปัญญาชนในมหาวิทยาลัย ซึ่งตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยหยุดนิ่ง มีดีขึ้นและแย่ลงในหลายมิติ ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะของประเทศและไม่ควรถูกหยุดยั้ง แต่สังคมยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นวิชาการเพื่อความคิด หรือเป็นวิชาการเพื่อฝักฝ่าย ทั้งนี้ ตนไม่กังวลว่าจะพูดอะไรออกไป เพราะเชื่อว่าในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งมหาวิทยาลัยและนักวิชาการจะต้องตระหนักในประเด็นสิทธิเสรีภาพความคิดตรงนี้ด้วย


นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตั้แต่การชุมนุมของกลุ่ม กกปส. ตนมีปัญหาทางความคิดอย่างมาก ต้องทบทวนความคิดตัวเองอย่างสูง ทั้งที่อยู่ในการต่อสู้ประชาธิปไตยมากว่า 40 ปี เพราะถ้าจะพูดในการต่อสู้แนวทางประชาธิปไตย ความคิดของเราต้องมั่นคง แต่อาจพอสรุปได้ว่าตนมองเป็นปัญหาว่า คนไทยจำนวนมากมองประชาธิไตยเป็นแค่เครื่องมือ เพื่อบรรลุอะไรบางอย่างมากกว่า การมองประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นหรือที่ตัวเองเป็น เมื่อตนมองแบบนี้ก็ได้คำตอบมากมาย ทำให้เรามองประชาธิปไตยด้อยลงไปกว่าประชาธิปไตยในต่างประเทศ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าต่างประเทศเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาการตื่นตัวของปัญญาชนเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยการโอบรัดประชาธิปไตยที่ได้มาเพราะรู้สึกว่า มีเสรีภาพสิทธิความเท่าเทียมกับคนในอาชีพทหารหรือข้าราชการ แต่แปลกใจว่าในปัจจุบันมีคนมองว่าเราปกครองแบบให้ทหารดูก็ดี เพราะยังมีเสรีภาพที่ยังสามารถพูดได้ ไม่มีความกระทบกระเทือน บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ทำให้ที่มีของชนชั้นกลางจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีคนคิดว่า สามารถหยุดประชาธิปไตยได้ หรือจะให้ประชาธิปไตยเป็นครึ่งหนึ่งก็ได้


ขณะที่นักการเมืองก็สมาทานประชาธิไตยแค่ตำแหน่งในสภา ส่วนชาวบ้านทั่วไปซึ่งผมไม่ได้สื่อความหมายว่าโง่หรือฉลาดก็สมาทานประชาธิไตย เฉพาะการเลือกตั้ง หรือการมี ส.ส.เป็นตัวแทน หรือเป็นผลประโยชน์ของชุมชน ทำให้มิติหนึ่งได้ขาดหายไป ส่วนกลุ่มทุนถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมากที่สุด ในเรื่องประชาธิปไตยกลุ่มทุนคิดเพียงว่าจะจ่ายเงินให้นักการเมืองเท่าไหร่เพื่อแลกกับโปรเจ็ค ที่ผ่านจึงแทบไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องประชาธิไตยจากคนกลุ่มนี้นายธีรยุทธ กล่าว


นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ถ้าพูดเรื่องชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยต้องเข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงชุมชนจริงๆ พูดง่ายๆ ปัญหาที่ง่ายถึงยากมากที่สุดจะไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าจะเป็นดินพอกหางหมู จนทำให้ต้องแก้ไขปัญหาโดยการเดินขบวนนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดรัฐประหารตามมา ซึ่งจากการแก้ปัญหา หลังการชุมนุมของกลุ่มกกปส. จนถึงการมีรัฐประหารนั้น ก็มีความคิดในการแก้ปัญหาโดยเชื่อว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะแก้ได้ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ดีเท่านั้น โดยให้ คณะกรรมการชุดหนึ่งไปร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งแนวคิดนี้พิสูจน์มาตั้งแต่ปี 2540 ปี 2549 จนถึงปี 2558 ซึ่งกำลังทำในลักษณะนี้อยู่ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตนยังไม่สามารถวิจารณ์รัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ ตนเต็มใจจะคุยกับใครก็ได้ ทั้งทหาร นักการเมือง กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดงว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองให้มามองปัญหาแบบเปิดๆ สู่การแก้ปัญหาว่าต้องเป็นอย่างไร แต่ยอมรับว่าเป็นโอกาสที่ทำได้ยาก เพราะคนที่ยึดติดยังมีจำนวนมาก แต่ถ้าถึงจังหวะหนึ่งในการขอความคิดให้บ้านเมืองก็คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรียกว่าความสมานฉันท์ แต่ความสมานฉันท์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเขียนกฎหมาย หรือเกิดจากคำสั่งหรือเกิดจากการร้องเพลง เพราะการสมานฉันท์ต้องเกิดจากความเต็มใจ เกิดจากความถูกต้องและเกิดจากความจริงทางการเมือง อยากฝากไว้ว่าการสร้างความสมานฉันท์ ไม่ใช่เรื่องง่ายเราต้องมองปัญหาให้ถูกจุด เพื่อให้หาวิธีแก้ปัญหาให้ถูกจุดตามมา


นายธีรยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยไทยมีความคิดต่างกันคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็คิดแบบทหารคิดเรื่องชาติ คิดเรื่องความมั่นคง จึงเป็นที่มาของการเข้าควบคุมอำนาจเพราะไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ตนให้ความสำคัญกับประเทศมากกว่า เมื่อมองเป็นคำว่าประเทศก็จะนึกถึงสังคม นึกถึงประชาชน นึกถึงชาวบ้าน ก็จะทำให้สายตากว้างขึ้น แต่พอพูดถึงเรื่องชาติก็มีความรู้สึกว่าต้องเชียร์ลูกเดียว ซึ่งทหารติดกับความคิดเรื่องชาติและความมั่นคง แต่ปัญหาเรื่องการปฏิรูปทหารยังไม่มีการพิจารณามากเท่าที่ควร นอกจากนี้ในความคิดเรื่องพลเมืองก็คล้ายกับมุมมองความคิดเรื่องการมองคำว่าประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความรับผิดชอบและกระตือรือร้นมากขึ้น เมื่อมองความคิดที่ต่างกันทำให้การแก้ปัญหาต่างัน แต่จะทำอย่างไรให้พลังชาวบ้านมาเป็นฐานให้ประเทศ ที่ผ่านมาก่อนปี 2500 ชาวบ้านมองตัวเองเป็นเชิงลบ เพราะถูกกดจากอำนาจส่วนกลางทำให้เป็นผู้น้อย แต่หลังจากปี 2500 สถานะชาวบ้านได้รับความสนใจมากขึ้น จากอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นตัวประกอบในวัฒนธรรมส่วนกลางซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น


ชาวบ้านยังไม่รู้สึกในสิทธิอำนาจของตัวเองว่าจะไม่หายไปหลังการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไป ผมไม่อยากใช้คำว่าเป็นการกระจายอำนาจ แต่อยากใช้คำว่าการกระจายสิทธิตัวเองของท้องถิ่น หากทำได้ชาวบ้านจะมีประชาธิปไตยที่เป็นวิถีชีวิต หากทำไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องอยู่ในระบบอุปถัมภ์ในช่วงการเลือกตั้งอยู่ดี โดยสรุปมองว่าต้องผลักดันให้เกิดอัตลักษณ์ตัวตน ให้สิทธิของชาวบ้านเป็นหลักในการปฏิรูปสู่การแก้วิกฤติของประเทศชาติได้นายธีรยุทธ กล่าว

logoline