svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลจำคุก 2 ปี "สนธิ-จำลอง-แกนนำพธม." บุกทำเนียบปี 51

28 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอาญา พิพากษา จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา พล.ต.จำลอง - สนธิพร้อม 4 แกนนำพันธมิตร บุกทำเนียบกดดันรัฐบาลสมัคร ปี 51 ขณะที่ทนายยื่นหลักกรมธรรม์ประกันคนละ 2 แสนบาท พร้อม ยกเคส ศาลยกฟ้องอาจารย์จอนบุกสภา สู้อุทธรณ์คดี

ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 28 พ.ค.58 เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีแกนนำพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 หมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 10เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 80 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 67 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 69 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 65 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 69 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และ นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 42 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว และอดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน ร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 , 358 , 362 และ 365
ตามฟ้องโจทก์บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.51ได้มีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าว เป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ
ต่อมาหลังจากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.51 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่กับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ทำลายเครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค.51 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลแล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและระหว่างวันที่ 26 ส.ค.51- 3 ธ.ค.51 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเลคโทรนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ - จำเลย นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.51 จำเลยที่ 1-5 และจำเลยที่ 6 ผู้ประสานงาน พธม.ได้ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน และประกาศให้ประชาชนไปชุมนุมยังสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ เอ็นบีที กระทรวงการคลัง จากนั้นวันที่ 26 ส.ค.51 จึงได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบราชการไปชุมนุมยังบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นผู้ชุมนุมได้ผลักดันแผงเหล็กกั้นอลูมิเนียม ปีนรั้วเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล บางส่วนตัดโซ่คล้องกุญแจประตู 2 และประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนรถปราศรัยติดเครื่องขยายเสียงเข้าไปตั้งเวทีอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำ พธม.ได้ชักชวนให้ประชาชนที่อยู่ภายนอก เข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาล และแกนนำ พธม.ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยอย่างต่อเนื่องกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.51 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แกนนำ พธม.จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค.51
จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแกนนำพธม.ได้จัดชุมนุมปราศรัยและบุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แม้ว่าบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สถานที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ไม่ใช่จะเข้าออกตามอำเภอใจได้
ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ชุมนุมนั้นเห็นเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุอันรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นการเข้าไปในทำเนียบเพื่อห้ามปราบผู้ชุมนุมไม่ให้ทำลายทรัพย์สินเสียหาย แม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการห้ามปราบผู้ชุมนุมแต่อย่างใด และข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยพร้อมผู้ชุมนุมได้บุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล โดยปีนรั้ว ใช้คีมตัดโซ่คล้องประตู อันทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย และเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญได้
แม้จำเลยอ้างว่ามีคนใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจึงต้องเข้าไปหลบอยู่ในทำเนียบรัฐบาลนั้น แต่ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเพื่อยกเว้นไม่ให้ต้องรับโทษได้ แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ถือว่ามีความผิด ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหก เป็นความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-6 กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 358,365และ 83 การกระทำของจำเลย ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ คนละ 2 ปี
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความแกนนำ พธม. กล่าวว่า ได้เตรียมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพในวงเงินคนละ 200,000 บาท เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีตามกฎหมายภายใน 30 วัน
เขา กล่าวอีกว่า การอุทธรณ์คดีของพันธมิตรฯ ก็จะนำคำพิพากษากรณีของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกับพวกบุกรุกอาคารสภา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน แต่ให้รอลงอาญา และเมื่ออุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องเพราะศาลเห็นว่า จำเลยขาดเจตนา มาใช้ประกอบเพื่อยื่นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไปด้วย

logoline