svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผลศึกษาสปช. เสนอโอนย้ายดีเอสไอไปควบรวมอัยการ

28 มีนาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลศึกษาสปช.เสนอโอนย้ายดีเอสไอไปควบรวมอัยการ ระบุป้องกันการเมืองแทรก รองปลัดยธ.-อธิบดีดีเอสไอ ยอมรับแนวคิดปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวนทั้งระบบ แต่ไม่จำเป็นต้องรวมกันในเชิงโครงสร้าง


เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 58 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงผลการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โอนย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นสำนักการสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอัยการสูงสุดว่า กระทรวงยุติธรรมเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะปรับปรุงงานสืบสวนสอบสวนทั้งระบบเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยกับพนักงานอัยการ หรือต้องทำงานสืบสวนสอบสวนร่วมกันภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องร่วมกันในเชิงโครงสร้าง สำหรับกลุ่มงานพัฒนาพฤตินิสัยทั้งหมดซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อเสนอให้โอนย้ายไปสังกัดศาลยุติธรรมนั้น มิติใหม่ของงานยุติธรรมเห็นว่าฝ่ายบริหารทุกกระทรวงต้องร่วมมือกับศาลในการฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยกระทรวงยุติธรรมจะเป็นข้อกลางเชื่อมฝ่ายบริหารรุกกระทรวงให้ทำงานร่วมกับศาล เนื่องจากงานฟื้นฟูปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของผู้กระทำผิดไม่ให้ออกมากระทำผิดซ้ำ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนงานในทุกกระทรวง  ด้านนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ข้อเสนอให้โอนย้ายดีเอสไอไปสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเพียงแนวคิดจากการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ในขั้นตอนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งดีเอสไอต้องรับมาศึกษาถึงผลกระทบและข้อดีข้อเสีย โดยดีเอสไอพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับปรุงองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากที่สุด  สำหรับดีเอสไอถูกมองว่าบุคลากรภายในมีคนของนักการเมืองเก่าแฝงอยู่ ส่งผลให้มีการเมืองแทรกแซงงานสอบสวนคดี โดยผลการศึกษาของสปช. เห็นสมควรให้โอนหน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปลี่ยนเป็นสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ มีผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่ออัยการสูงสุด 
2.กำหนดให้มีคณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ (ก.พ.ศ.) โดยมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ทำหน้าที่เป็นหลักประกัน ความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อร่วมกับพนักงานอัยการในการสืบสวน สอบสวน คดีพิเศษ  3.กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน ของผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ เทียบเท่าปลัดกระทรวง แยกสำนักงานคดีพิเศษ เป็น 10 สำนักงาน มีอธิบดีการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา 
4.กำหนดให้คดีพิเศษทุกคดีต้องมีพนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวน หรือเข้าร่วมสอบสวน
5.กำหนดให้คดีความผิดอาญานอกราชอาณาจักร อาชญากรรมข้ามชาติ คดีความผิดที่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญ และ คดีความผิดอาญาสามัญในพื้นที่ซึ่งอธิบดีอัยการ และอธิบดีสอบสวนคดีพิเศษเห็นควรให้มีการสืบสวน สอบสวน เป็นคดีพิเศษ  6.ให้คงอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ มีอำนาจเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วย 
7.ในเบื้องต้นให้คณะกรรมการอัยการ ทำหน้าที่คณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอธิบดีสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษกลาง รักษาการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนคดีที่ค้างการสืบสวน สอบสวน ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้จนกว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น และ 
8. กำหนดให้ มีการตรวจสอบ จริยธรรม จรรยาบรรณ ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ เนื่องจากการสอบสวนคดีพิเศษ ต้องอดทนกับความเสี่ยง การเสียดทานเป็นอย่างสูงเป็นพิเศษ จากผู้เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงอิทธิพล ด้านการเงิน อำนาจรัฐ หรือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ  ทั้งนี้การรวมองค์กรกรมสอบสวนคดีพิเศษมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานอัยการสูงสุด จะมีผลดีหลายด้าน ดังนี้ 
1.ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถอำนวยความยุติธรรมในชั้นสอบสวนได้มากขึ้น ตามความคาดหวังของประชาชน สังคม ทั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์โดยพนักงานอัยการสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น 
2.สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถเข้าทำการสอบสวนคดีสำคัญ คดีอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด เป็นการเติมเต็มศักยภาพของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมาย  3.ไม่ต้องจัดหางบประมาณ อัตรากำลังเพิ่มให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุดในภาระงานดังกล่าว โดยถ่ายโอน บุคลากรผู้มีทักษะในงานสืบสวนสอบสวน วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มายังสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทันที 
4.กระบวนการ การอำนวยความยุติธรรมในประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถสอบสวน ตรวจสอบ นักการเมือง ผู้มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ แม้แต่ฝ่ายตุลาการได้ หากมีมูลสงสัยว่า มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต โดยไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร
5.นักการเมือง ฝ่ายบริหาร ไม่อาจใช้กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ใช้อำนาจมิชอบในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม หรือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้สุจริต ในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

logoline