svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รายงาน : อนาคต "ยิ่งลักษณ์" ริบหรี่!

20 มีนาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อนาคต ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ดูเหมือนจะยิ่งมืดมนมากขึ้น หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเธอในคดีสืบเนื่องมาจาก โครงการรับจำนำข้าว โครงการสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทย



ข้อหาของ ยิ่งลักษณ์ คือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
บทลงโทษ คือ จำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000- 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่คดีแรกที่ ยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินการอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว โครงการหนึ่งในบรรดาโครงการที่ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา เธอถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนด้วยคะแนนท่วมท้น 190-18 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ทำให้เธอกลายเป็น นักการเมืองคนแรกที่ถูกถอดถอน หลังจากที่เธอเคยสร้างประวัติศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย โดยผลจากการถูกถอดถอนทำให้เธอถูกตัดสิทธิทางการเมืองทันที 5 ปี
แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการยกร่างอยู่นี้ ล่าสุดได้วางเงื่อนไขที่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. และการเป็นรัฐมนตรีว่า เคยถูกถอดถอน นั่นหมายความว่า ถ้ากติกานี้คลอดออกมาบังคับใช้ ยิ่งลักษณ์ ก็จะไม่สามารถกลับมาเล่นการเมืองได้อีก
สำหรับเงื่อนไขว่าผู้ที่เคยถูกถอดถอนไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.และเป็นรัฐมนตรีได้นี้ เป็นเงื่อนไขที่เคยถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน
นอกจาก ยิ่งลักษณ์ ที่จะขาดคุณสมบัติในการกลับมาเล่นการเมือง ตลอดชีวิต พี่ชายของเธอ คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เช่นกัน โดย ทักษิณ ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ ยังจะถูกฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวด้วย โดยเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อให้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก ยิ่งลักษณ์ ด้วย ซึ่งกระทรวงคลังอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ออกมาให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย โดยบอกว่า กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางแพ่ง ยิ่งลักษณ์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 21 คน ในคดีระบายข้าวแบบจีทูจี
ทั้งนี้คดีเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เผชิญอยู่นี้ คือ คดีถอดถอน คดีอาญา และคดีแพ่ง มีต้นทางมาจากที่เดียวกัน คือ ป.ป.ช.
ในส่วนของคดีอาญานั้น โฟกัสอยู่ที่วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งในวันนั้น ยิ่งลักษณ์ จะต้องมาศาล หากเธอมา ศาลก็จะดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป และในวันนั้นศาลจะต้องพิจารณาเรื่องการให้ประกันตัวยิ่งลักษณ์ รวมถึงเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศด้วย จากที่ก่อนหน้านี้เธอเคยยื่นขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ แต่ คสช.ไม่อนุญาต โดยบอกให้รอศาลเป็นผู้พิจารณาเอง ทั้งนี้ในคดีสำคัญๆ ศาลมักจะกำหนดเงื่อนไขว่าหากจะเดินทางไปต่างประเทศต้องขออนุญาตศาลก่อน
แต่หากเธอไม่มา ศาลจะต้อง ออกหมายจับ เพื่อนำตัวเธอมาขึ้นศาล และในระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวมา ศาลจะต้องจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวด้วย นั่นคือ หาก ยิ่งลักษณ์ ไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลในวันพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลจะไม่สามารถเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีได้ ในกรณีนั้นก็หมายถึง ยิ่งลักษณ์ หนี!
หากเทียบกับ ทักษิณ ในส่วนคดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษกนั้น ทักษิณเลือก หนี ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา คือ ในช่วงแรกเขาก็ไปปรากฎตัวที่ศาล อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคดีที่ทักษิณไม่ได้ไปศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ทำให้ศาลต้องจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และออกหมายจับเพื่อนำตัวมาพิจารณาคดี
มีการมองว่า หาก ยิ่งลักษณ์ จะหนี เธอควรจะหนีตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาไม่ได้อย่างไรก็ตาม หากถอดความจากสิ่งที่ ยิ่งลักษณ์ สื่อสารผ่านเฟซบุ๊คของเธอ ประโยคหนึ่งของเธอคือ ดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์ความจริงต่อศาล ซึ่งจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากตีความว่า ยิ่งลักษณ์ประกาศ สู้...ไม่หนี

สำหรับเนื้อหาโดยรวมที่ ยิ่งลักษณ์ โพสผ่านเฟซบุ๊คของเธอนั้น จะคล้ายๆกับสิ่งที่เธอเคยพูดมาก่อนหน้านี้ คล้ายๆกับบางช่วงบางตอนที่เธอพูดในตอนแถลงปิดคดีถอดถอนต่อ สนช. คือ1.ยืนยันถึงการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในระบอบประชาธิปไตย
2.ย้ำเรื่องชาวนาชาวไร่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด บอกว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่จะมายกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา โดยเป็นโครงการที่ได้รับ ฉันทามติจากประชาชนในวิถีทางประชาธิปไตย
3.เน้นเรื่อง หลักนิติธรรม ในกระบวนการยุติธรรม โดยตอกย้ำว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรมในขั้นตอนการพิจารณาของ ป.ป.ช. และ อัยการสูงสุด จึงหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในชั้นศาล ขอให้มีการพิจารณาอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ปราศจากอคติใดๆ
4.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ กดดัน หรือชี้นำทางการเมือง จนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ ทั้งนี้ที่ผ่านมาฝ่ายยิ่งลักษณ์จะบอกเสมอว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือ กระแสกดดัน ไปยังองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องตัดสินใจในคดีของยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมา คือ ป.ป.ช. และ สนช.
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคดี หากสามารถเริ่มได้ตามปกติ ตามข้อบังคับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ศาลจะนัดพิจารณาต่อเนื่องกันทุกวันทำการ ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ เพื่อความรวดเร็ว โดยระยะเวลาในการพิจารณาคดีอาญานักการเมืองที่ผ่านมาจะอยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือน
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากนับระยะเวลาในการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก จาก 19 มีนาคม วันสั่งคดี ไปถึงวันที่ 19 พฤษภาคม นานถึง 2 เดือนเต็ม ขณะที่ปกติที่ผ่านมา ระยะเวลานัดครั้งแรกนับจากวันสั่งคดีส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์ หรือ 45 วัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าที่ครั้งนี้ศาลให้เวลาไปถึง 2 เดือนเพราะศาลคงไม่อยากให้ถูกมองว่ามีการเร่งรัด เร่งรีบพิจารณาคดี อย่างที่ฝ่ายยิ่งลักษณ์เคยกล่าวหาต่อขั้นตอนการพิจารณาของ ป.ป.ช.
จากนี้ ยิ่งลักษณ์ คงต้องนับถอยหลังสู่วันที่ศาลจะตัดสินอนาคตของเธอ ซึ่งดูเหมือนจะ ริบหรี่ เต็มที!!

logoline