svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปธ.สนช." ฉุน "สหรัฐ" เข้าใจ ปชต. แค่มีเลือกตั้ง

29 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐสภา / 29 ม.ค. 58 --- ปธ.สนช. ฉุน สหรัฐ เข้าใจ ปชต. แค่มีเลือกตั้ง ซัก แดเนียล ขัดวิธีการทูต มั่วนำอัยการศึกปนถอดถอน

ที่รัฐสภา -29 ม.ค.58 - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงกรณีที่นายแดเนียล รัชเซล ผู้ช่วยรัฐูมตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ แทรกแซงกิจการการเมืองไทยว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่ผู้แทนสหรัฐฯเข้ามาพบะประเทศไทยในเชิงไม่ถูกต้อง ด้วยระเบียบวิธีทางการทูต ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯทำเป็นประจำ แต่ก็ดีกว่าการส่งสปายสายลับซีไอเอเข้ามาแทรกแซงกิจการของประเทศต่างๆ ที่เขาใช้นโยบายนี้เพราะถือว่าเขาเป็นประเทศมหาอำนาจ

ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่ากระบวนการแต่งตั้งสนช.จะเกิดขึ้นจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ประเทศไทยปกครองในระบบนิติรัฐ โดยใช้กฎหมายดูแลประเทศ โดยยึดกฎหมายเป็นหลักทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั่วไป ซึ่งหลังการรัฐประหาร คสช.ก็ได้เปลี่ยนถ่ายอำนาจ โดยสนช.และครม. เป็นโรดแมพในการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งอาจมีมุมมองที่ไม่เหมือนกันในบางเรื่อง โดยสหรัฐฯได้เข้าไปในตะวันออกกลาง เอเชีย และมองว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ขอให้มีการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเขาก็พอใจแล้ว ไม่สนใจบริบทอื่นว่าประเทศจะเป็นอย่างไร

นายพรเพชร กล่าวว่า สำหรับ คสช.มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนก่อนรัฐประหาร ผู้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายใช้อาวุธสงคราม คสช.จึงเข้ามาปัดกวาดบ้านเมืองเพื่อปูพรมไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย และมีจุดมุ่งหมายเดียวคือการเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน มีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข และที่ตนเข้ามาทำงานกับ คสช.เพราะเรามีอุดมการณ์เดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย และนำไปสู่การเลือกตั้งตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนกระบวนการถอดถอนของสนช. เป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะพูดว่าเป็นเรื่องของการเมืองก็คงใช่ แต่ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ และยึดตามหลักนิติธรรมด้วย ยืนยันว่ากระบวนการถอดถอนเป็นกระบวนการส่วนใหญ่ในรัฐสภา สหรัฐฯเองเคยมีการถอดถอนมาเช่นกัน ดังนั้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็ยังยืนอยู่บนความร่วมมือในทุกมิติ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่สิ่งที่นายแดเนียลไปสรุปเอาเรื่องถอดถอนไปปนกับกฎอัยการศึกษา ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิง นายพรเพชร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายแดเนียล มองว่าการถอดถอนครั้งนี้เป็นการไล่ล่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นายพรเพชร กล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่าไล่ล่า ไม่ใช่คำพูดที่อยู่ในบริบทของตน ตนไม่ใช่คำนี้ แต่ใครจะไปขยายความอย่างไรตนไม่ทราบ สำหรับตนเห็นว่าเป็นบริบทของสื่อ แต่สนช.ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อไล่ล่าใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องทำชี้แจงไปยังรัฐสภาสหรัฐฯหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ต้องทำหนังสือถึงสภาสหรัฐฯ เพราะสภาสหรัฐฯไม่ได้ก้าวล้วงอะไร ซึ่งเราก็มีเวทีสมัชชาสหภาพรัฐสภา หรือไอพียูสามารถชี้แจงได้

logoline