svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิษณุ" ปัดรัฐไล่ล่า "ยิ่งลักษณ์"

28 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิษณุ" ปัดรัฐไล่ล่า"ยิ่งลักษณ์"เร่งทำความเข้าใจ เชื่อไม่กระทบปรองดอง รับการข่าวมีการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้เกี่ยวข้องดูแล เปรียบหนีเสือปะจรเข้ ชี้ปรองดองมีหลายวิธี ไม่จบแค่นิรโทษกรรม มั่นใจสหรัฐฯ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน

สโมสรกองทัพบก วิภาวดี รังสิต--28 ม.ค.58--เมื่อเวลา 15.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการไล่ล่าทางการเมือง ว่า ถ้าเข้าใจผิดก็ต้องอธิบายและทำความเข้าใจ โดยรัฐบาลจะทำความเข้าใจโดยรวมไม่เจาะจงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจไล่ล่าทางการเมือง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดตั้งแต่ต้นแล้ว หากจะจัดการปัญหาทางการเมืองคงมีการดำเนินการตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มยึดอำนาจใหม่ๆ ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยได้ยินคนเสนอแนวทางลักษณะนี้มาแล้ว แต่เนื่องจากคสช.ไม่มีความประสงค์ที่จะทำ แต่ต้องการให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการ ดังนั้นเราจึงไม่แสดงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวถอดถอนได้หรือไม่ได้ สภาฯมีอำนาจหรือไม่มี วันนี้หากความไม่เข้าใจยังมีอยู่ก็คงต้องมีการพูดคุยอธิบาย แต่ฝ่ายที่เข้าใจผิด ที่คิดว่ามีการไล่ล่าทางการเมืองต้องไปหาข้อมูลเอาเอง และในที่สุดจะสามารถเข้าใจได้เอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ที่จะกระทบต่อความมั่นคง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ   แต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะเวลานี้ทุกคนยังไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างเปิด เช่น เมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นเก่าๆเหล่านี้ก็จะสามารถกลับมาได้ แต่ก็หวังว่า จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าสิ่งที่จะกระทบความมั่นคงจะเป็นประด็นอื่น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีการข่าวอยู่ ต้องให้คนมีหน้าที่พูดตนไม่สามารถตอบได้ แต่ก็เชื่อว่ากรณีการถอดถอนคงไม่กระทบต่อแนวทางการปรองดองเพราะเป็นคนละเรื่อง แต่หากในอนาคตอาจมีการบิดเบือนหรือปลุกระดมก็อาจจะนำไปสู่การไม่ปรองดองได้ ดังนั้น เราต้องมีสติในการทำความเข้าใจว่าอะไรคือเหตุผลทั้งหมดเป็นเรื่องของกลไกปกติ หรือการกลั่นแกล้งประชาชนจึงต้องใช้วิจารณญาณและสติปัญญาในการพิจารณา
ผมเคยพูดแล้วว่าเรื่องนี้เหมือนกับการหนีเสือปะจระเข้ ถ้าฝ่ายที่คิดว่ามีอำนาจแต่ไม่ทำอะไรจะเจอสถานการณ์คล้ายๆลักษณะนี้ และอาจโดนกดดันจากอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ค้างคามา เช่น ถ้าไม่มีการถอดถอนอีกฝ่ายก็จะมองว่าทำไมไม่มีการทำอะไร แต่ถ้าถอดถอนอย่างที่ทำอยู่ก็จะเกิดความไม่พอใจจากอีกฝ่ายหนึ่ง นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า คณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณาซึ่งต้องดูเรื่องความเหมาะสม เพราะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากดูแลไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาและอาจรุนแรงมากว่า ทั้งนี้การปรองดองคือจุดหมายปลายทางแต่มีหลายวิธีทั้งการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การอภัยโทษ นิรโทษกรรม การแก้ไขปัญหาความความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นเพียงวิธีหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้จบที่การนิรโทษเพียงอย่างเดียว เพราะต่อให้ไม่มีการนิรโทษกรรมก็สามารถปรองดองได้ แต่หากถึงจุดหรือเวลาที่เหมาะในการนิรโทษกรรมรัฐบาลก็จะทำ ซึ่งการกรนิรโทษกรรมต้องออกฏหมาย แต่ละฝ่ายต้องมีความเข้าใจอีกทั้งต้องมีคำตอบที่เหมาะสม เช่น การนิรโทษกรรม 66/ 23ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสังคมต้องการจึงออกมาโดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แต่หากออกมาแล้วคนต่อต้านเราก็ต้องกลับไปใหม่ นั่นแปลว่า มาผิดจังหวะ
เมื่อถามถึงกรณีที่นายเเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก   ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าไม่ได้มีอะไรและผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศ สหรัฐฯก็ระบุว่าทางสหรัฐฯไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้อยู่ที่ทางฝ่ายเราได้ไปพูดอะไรมากกว่า เพราะข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่าฝ่ายเราไปพูดคุยกับสหรัฐฯซึ่งตนติดใจเรื่องนี้มากที่บอกว่า รัฐบาลกำลังเล่นละครอย่างการร่างรัฐธรรมนูญเป็นต้น

logoline