svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กต.เชิญอุปทูตสหรัฐ แจงกรณีวิจารณ์การเมืองไทย

28 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กต.เชิญอุปทูตสหรัฐฯ แจงกรณี ผช.รมว.กต.สหรัฐฯ วิจารณ์การเมืองไทย "ดอน" ลั่น ไม่ได้ประท้วง แต่อยากสะท้อนความรู้สึกคนไทย ที่สหรัฐฯ สร้างบาดแผลปนความผิดหวังไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายแดเนียล รัสเชล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาแสดงความคิดเห็นการเมืองของไทย ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 8.00 น. วันที่ 28 ม.ค.2558 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ เชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบหารือนานกว่า 30 นาที

ต่อมา เวลา 10.00 น. นายดอน ได้เปิดแถลงข่าวว่า ได้เชิญอุปทูตสหรัฐ  เพื่อรับทราบร่วมกันเกี่ยวกับการหารือระหว่างผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ กับพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยดี และมีบางเรื่องที่เรามีความห่วงกังวล ซึ่งต้องพูดคุยกันเพราะความกังวลนี้สะท้อนออกมาจากหลายทิศทาง เป็นสิ่งที่เราคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้ผ่านไป ก็เห็นว่าน่าจะได้รับทราบไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้าจะได้ดีขึ้น โดยความกังวลนี้ระคนกับความผิดหวัง อีกทั้งเป็นเสียงสะท้อนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดบาดแผลขึ้นในใจ เป็นบาดแผลในใจจากการเยือน จึงอยากให้รับทราบเรื่องเหล่านี้ คราวหน้าจะได้หาทางเยียวยาไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกแต่ไม่ได้เชิญมาประท้วง เราไม่ได้แข็งกร้าว แต่มีเหตุผล ประเทศไทยมีวุฒิภาวะไม่ได้เป็นประเทศเพิ่งเกิดใหม่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีการรัฐประหารหลายครั้งซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย
นายดอน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้พูดคุยถึงความร่วมมือในอนาคตสาขาต่างๆ ที่เราจะมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับประเทศไทยต่อไป ในฐานะมิตรประเทศอันยาวนาน 182 ปี ที่จะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ได้ฝากไปว่าทิศทางในอนาคต ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะมั่นตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในเดือนก.ย. ที่สหรัฐอเมริกา ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง 
เมื่อถามว่าได้ชี้แจงเรื่องกฎอัยการศึกอย่างไรหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดกันมาหลายครั้ง รวมทั้งการหารือระหว่างรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กับผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐ ก็ได้ยกขึ้นมาหารือเมื่อคราวที่แล้วว่า ที่จริงไม่มีใครรู้สึกว่ามีกฎอัยการศึกอยู่ มีแต่ตัวหนังสือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบอะไรเลย นอกจากผู้ที่มีเจตนาไม่ดีหรือสร้างปัญหาความมั่นคง ซึ่งถือว่าจำนวนน้อยมาก
              "ถ้าอยากให้เราเลิก อยากให้ยุติ หากมีเหตุการณ์ใครจะรับผิดชอบ ท่านรับผิดชอบได้หรือไม่ อยากจะให้เลิก แล้วเราตามใจ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นวุ่นวาย ผู้เรียกร้องหรือใครจะรับผิดชอบ"นายดอนกล่าว
เมื่อถามถึงท่าทีของอุปทูตสหรัฐเป็นอย่างไร มีความเข้าใจแค่ไหน นายดอน กล่าวว่า  อุปทูตสหรัฐ ได้กล่าวขอบคุณที่ฝ่ายไทยได้บอกกล่าวในเรื่องนี้ และรับทราบ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีคำถามอะไรเพิ่มเติม และจะกลับไปพิจารณาต่อไป เมื่อถามต่อถึงกรณีที่นายรัสเซลแสดงความเห็นถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ตนได้ให้ข้อเท็จจริงไปว่า ถ้าติดตามเรื่องของประเทศไทย ก็จะเห็นว่ามีกระบวนการมาตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องของกฎหมายล้วนๆ เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในหลายเรื่องเป็นผลให้เกิดความเสียหาย จึงทำให้กระบวนการทางกฎหมายต้องเข้ามา ดังนั้นถ้าพูดว่าการเมืองเป็นตัวกำหนด ก็แสดงว่าเจ้าหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลให้กับเขา ไม่ได้เข้าใจประเทศไทยหรือเหตุการณ์ในบ้านเราในช่วงปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนเพียงพอ จึงต้องให้เขารับรู้ว่าเรื่องนี้มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น อีกทั้งการรัฐประหารในประเทศไทยไม่เหมือนกันประเทศอื่นๆ ในโลก
นายดอนกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการไปกล่าวครั้งนั้น เริ่มต้นได้ดี จนมาท้ายๆ แทนที่จะเป็นการส่งเมสเซสที่จะช่วยให้เยาวชนและนักศึกษา ช่วยทำให้หัวใจของเยาวชนผนึกกัน มีความรู้สึกตื่นตัว แต่ผู้มาเยือนก็เลือกที่จะพูดเรื่องการเมือง ซึ่งเราถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อถามว่าถือว่าสหรัฐแทรกแซงหรือก้าวก่ายกิจการภายในประเทศหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ถ้าเป็นไทยก็จะเลือกที่จะไม่พูดในลักษณะนี้ แต่จะพูดเพื่อส่งเสริม ประเทศไหนที่มีปัญหาเราจะไม่พูด ไม่เฉพาะแค่สหรัฐ แต่ไม่ว่าประเทศไหน เราก็จะไม่พูด เรามีโอกาสเลือกได้ว่าจะพูดหรือไม่ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้เมินเฉยต่อท่าทีของสหรัฐ แต่เราได้รับทราบท่าทีของนานาประเทศอยู่แล้วมาตั้งแต่เดือนพ.ค.57 และกำลังก้าวย่างในเส้นทางที่วางไว้อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อประโยชน์ของชาติโดยแท้จริง เพื่อเข้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานชัดเจน โดยจะปฏิรูปทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องเลือกตั้งแต่อย่างเดียวแต่ต้องเป็นการเมืองที่  rule of law และต้องมองถึงองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวโยงกันด้วย 
"คนไทยชอบสิ่งที่มาจากสหรัฐอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐพูดออกมาอย่างเป็นทางการ ถ้าไปเชื่อทุกเรื่องราว ก็จะมีผล ทำให้เกิดปัญหา เพราะหลายเรื่องที่พูดเรื่องการเมือง ก็ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง อย่างที่เห็นกันอยู่ ปรากฏเป็นข่าวบ้าง ท่านผู้พูดมีทางเลือกจะรู้ว่าพูดแบบไหน เพราะเยาวชนของเราตั้งหน้าตั้งตารอฟัง แต่เมื่อมันไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าน่าผิดหวัง ขณะที่บางคนถือว่าเป็นบาดแผลในใจเลยทีเดียว เพราะลูกหลานไปได้ยินเรื่องราวที่ไม่ควรจะได้ยิน" นายดอน กล่าวและว่า สิ่งที่เขามองว่าเป็นปัญหาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสหรัฐ ประชาชนอเมริกันไม่ได้เดือดร้อน นักธุรกิจแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐก็ไม่ได้เดือดร้อน และรัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งที่เราทำเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เขาเดือดร้อนในแง่ของหลักการที่เรามีพัฒนาการทางการเมืองที่บังเอิญไปขัดกับหลักการ เขาเดือดร้อนแค่นั้น ขณะที่เลือดสักหยดก็ไม่หลั่งไหล เป็นที่รับทราบกันว่าความเดือดร้อนต่างๆ ไม่ได้มีต่อนานาชาติ ตรงกันข้ามกลับดีขึ้น มีความสงบผาสุก รู้สึกปลอดภัย อีกทั้งหลายประเทศก็รับทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องหลักการก็ว่าไปตามหลักกัน ขณะที่เรื่องความร่วมมือก็ดำเนินต่อไป" นายดอนกล่าว

logoline