svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิพิฏฐ์" เชื่ออัยการศึกไม่กระทบการปรองดอง

28 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุการที่ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยกเลิกอัยการศึก ส่อแทรกแซงกิจการภายในไทย เชื่อเพราะไม่เข้าใจสถานการณ์ มั่นใจอัยการศึกไม่กระทบการปรองดอง

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกการที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ แดเนียล รัสเซล ระบุว่าการถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีการแทรกแซงทางการเมืองและจะมีผลกระทบต่อการปรองดองนั้น เป็นการแสดงออกจากพื้นฐานที่คิดว่า เป็นตำรวจโลกที่ต้องจัดระเบียบ

โดยเฉพาะกับประเทศที่บริหารขัดกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ บางถ้อยคำก็ส่อถึงการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจรายละเอียดหรือความผิดพลาดของนโยบายจำนำข้าว ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำไว้

ส่วนที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า ไทยควรยกเลิกการใช้กฏอัยการศึกนั้น นายนิพิฏฐ์ บอกว่า ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างชัดเจน เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทย เพราะบริบทและสถานการณ์ในแต่ละประเทศต่างกัน

เช่น กรณีสหรัฐฯ ออกปฏิบัติการไล่ล่าบุคคลที่เขาถือว่าเป็นภัยกระทบต่อความมั่นคงของเขาในประเทศต่างๆ ไทยก็ไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ กับเรื่องของสหรัฐฯ เรื่องการใช้กฎอัยการศึกของไทยจึงควรเป็นเรื่องภายในของไทยที่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในประเทศไทยด้วย

ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า กฏอัยการศึกไม่กระทบกับการสร้างความปรองดองนั้น เพราะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่เข้าใจได้ว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คงจะได้รับแนวคิดมาจากคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องการให้มีการนิรโทษกรรมหรือเซ็ทซีโร่ ใหม่ทั้งหมด ทั้งที่การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการปรองดองเป็นคนละส่วนกัน

วานนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้เช่นกัน โดยยืนยันว่า จะยังไม่ยกเลิกกฏอัยการศึก ซึ่งพลเอกธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ชี้แจงความจำเป็นต่อสหรัฐฯ ในการบังคับใช้กฎอัยการศึกแล้ว

พร้อมถามกลับว่า หากสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนไทย จะใช้กฎหมายนี้หรือไม่ ซึ่งผู้แทนสหรัฐฯ ไม่สามารถตอบได้ นายกฯ ย้ำด้วยว่าการถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยคดีนี้มีมาก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหาร และการพิจารณา อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

logoline