svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมบัติ" ชี้เลือกตั้งรอบที่จะมาถึง จะพบซื้อสิทธิขายเสียงรุนแรง

24 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วงเสวนาปฏิรูปการเมือง จี้ กมธ.ยกร่าง รธน. ทบทวนจุดเสี่ยงระบบเลือกตั้งใหม่ ขณะที่สมบัติ เผยนายทุนพรรคการเมือง ตั้งเป้าได้ ส.ส.54% เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก 330 เสียงเลี่ยงถอดถอน แจงแผนส่งนักเลือกตั้งที่ผูกขาดพื้นที่ลงอิสระ ก่อนรวมตัวหลักฟอร์มรัฐบาล ด้านนักวิชาการ หนุนเพิ่มความเข้มแข็งภาคประชาชน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดเวทีสัมมนาและรับฟังความเห็น เรื่อง 10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย

โดยเวทีแรกเป็นประเด็นของการปฏิรูปการเมือง ซึ่งนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ย้ำให้เห็นถึงปัญหาการเมืองไทยที่ผ่านมาที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง การทำงานในรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบที่จะมาถึงจะพบการซื้อสิทธิขายเสียงที่รุนแรงเช่นเดิม เพราะปัจจุบันประชาชนรอการเลือกตั้ง แม้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะมีพฤติกรรมทุจริต แต่ประชาชนไม่ได้คำนึงถึงประเด็นดังกล่าวเพราะมองเพียงประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น

เช่น โครงการรับจำนำข้าวเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ที่ถือเป็นโครงการประชานิยม มีการทุจริตหลักแสนล้านบาท ทำประเทศชาติเสียหาย แต่ประชาชนต้องการเพราะประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขอให้จับตาการเขียนบทบัญญัติที่ป้องกันนโยบายหาเสียงแบบประชานิยมให้ดี หากเขียนป้องกันไม่ได้จะเกิดความเดือดร้อน


นายสมบัติ ยังกล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่วางหลักการประเด็นการเมืองไว้แล้วว่า ขอให้ทบทวนและหามาตรการเพื่อป้องกันปัญหาางการที่เป็นจุดเสี่ยง ดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลผสมที่ไม่มีประสิทธิภาพ จากจำนวนส.ส.ที่วางไว้ 450 เสียง และใช้วิธีนับคะแนน ส.ส.แบบสะท้อนความนิยมที่แท้จริง หรือแบบประเทศเยอรมนี จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากพอตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ดังนั้นจะเกิดการระดมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาล หากผลการรวมตัวเป็นแบบสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเทศชาติจะไม่มีอนาคต แต่หากเป็นรัฐบาลผสมที่เสียงเข้มแข็งเกิน 330 เสียง จะทำให้กระบวนการตรวจสอบอ่อนแอ การถอดถอนนักการเมืองในระบบรัฐสภาทำไม่ได้จริง

2.ระบบนายทุนพรรคการเมือง ตามหลักการที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาคือ ให้มีผู้สมัคร ส.ส.แบบอิสระนั้น ตนได้ข่าวมาว่าในการเลือกตั้งรอบต่อไป มีพรรคการเมืองวางเป้าให้ได้จำนวน ส.ส. 52 - 54 เปอร์เซ็นต์ก็พอ

โดยนายทุนพรรคการเมืองจะส่งนักการเมืองในสังกัดที่มีชื่อเสียงและเป็น ส.ส.ซึ่งผูกขาดพื้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ ส่วนในนามพรรคจะส่งจิ๊กโก๋ไร้ชื่อเสียงลงเลือกตั้ง และในกระบวนการหาเสียงนักเลือกตั้งอิสระขอประชาชนลงคะแนนให้พรรคการเมืองหรือแบบบัญชีรายชื่อให้มากที่สุด เพื่อให้ได้คะแนนนิยมที่มาก และมีสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด ส่วนระบบเขตจะไม่เน้นมาก ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งเสร็จพรรคการเมืองนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก และรวมกับผู้สมัครอิสระจะได้จำนวน ส.ส.มาก

และ 3.แนวโน้มที่จะเกิดการผูกขาดการเมืองโดยกลุ่มการเมืองเดียว หรือรัฐบาลกลุ่มเดียว และเป็นรัฐบาลที่มีอายุยาวนาน
ด้านนายยุทธพร อิสระชัย คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเลือกตั้งในประเทศไทย ที่มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการซื้อเสียง ไม่สามารถแก้ไขได้จริง เพราะกฎหมายไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ ดังนั้นประเด็นที่จะช่วยลดปัญหาต้องเพิ่มเครื่องมือ 2 ส่วนคือ

1.สื่อมวลชนในชุมชนที่สะท้อนปัญหาในชุมชนไปสู่ส่วนกลาง และ 2.การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยึดโยงประเด็นปัญหาของชุมชน เพื่อลดการพึ่งพิงนักการเมืองและการต่างตอบแทน ระหว่างประชาชนและนักการเมืองที่จะเกิดขึ้นในระบบเลือกตั้ง

นอกจากนั้นในส่วนการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองต้องเพิ่มดุลยภาพการตรวจสอบในส่วนภาคประชาชน ในรูปแบบสภาตรวจสอบภาคประชาชน โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดังกล่าวแล้วจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในระบบการเมืองของประชาชนด้วย

ขณะที่นายสุริยะใส กตศิลา ผู้อำนวยการ สปช.และอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวยอมรับว่า ทุกรูปแบบของระบบเลือกตั้งของไทยมีช่องโหว่ เพราะรูปแบบนั้นมุ่งเฉพาะการคัดกรองผู้แทนที่ดี แต่มีสิ่งที่แก้ไขช่องโหว่ได้ คือ การให้ประชาชนเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่านั้น โดยรูปแบบสำคัญคือ กระบวนการประชามติของประชาชนที่มีสิทธิชี้ขาดว่าประเด็นไหนต้องการ หรือไม่ต้องการชัดเจน ไม่ใช่แค่กระบวนการปรึกษาหารือเท่านั้น

ส่วนประเด็นการถอดถอนจำเป็นต้องปฏิรูป โดยเฉพาะกระบวนการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น และกระบวนการถอดถอนนัการเมืองระดับชาติ ที่ต้องมีกลไกให้มาตอบข้อซักถามในสภาฯ ไม่ใช่ร่วมกระบวนการถอดถอนเพียงแค่การแถลงเปิดและปิดคดีเท่านั้น ส่วนตัวมองว่ากรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกลงมติให้ถอดออกจากตำแหน่งนั้นเพราะไม่มาตอบคำถามในสภา จึงเสียโอกาสชี้แจง

logoline