svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมบัติ" โต้ "บวรศักดิ์" สร้างความเข้าใจผิด เลือกตั้งนายกฯ ตรง

22 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมบัติโต้บวรศักดิ์ ให้ข้อมูลพลาดสร้างความเข้าใจผิด กรณีเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงเป็นระบบสร้างซุปเปอร์ ปธน.จี้ให้ทบทวนใหม่ พร้อมออกเอกสารแจงแก้ประเด็นจุดเสี่ยงตามความเห็นบวรศักดิ์ หวังเกิดความยุติธรรมกับ กมธ.พร้อมไล่ให้ไปอ่านหนังสือการเมืองอเมริกา หรือ ส่ง e-mail ถามทำเนียบขาว ประเด็นอำนาจ ปธน. เสนอกฎหมาย พร้อมยืนยันหากข้อเสนอเลือกนายกฯ ตรงไม่มีใน รธน.ใหม่ จะไม่กระทบต่อการลงมติเห็นชอบ รธน.

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวระหว่างการประชุม สปช. ว่าตนขอให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลกรณีที่ระบุว่าข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองที่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ถือเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดซุปเปอร์ประธานาธิบดี

โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองที่เสนอให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสามารถนำเสนอกฎหมายงบประมาณได้ ขณะที่ ส.ส.กรณีจะเสนอกฎหมายการเงินต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ ซึ่งถือเป็นหลักของการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งการให้ความเห็นของนายบวรศักดิ์ว่าจะเป็นระบบซุปเปอร์ประธานาธิบดีนั้นยังถือว่าคลาดเคลื่อน ดังนั้นขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ตรง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดได้

จากนั้นนายสมบัติ พร้อม กมธ.ปฏิรูปการเมือง ทำเอกสารชี้แจงเพื่อตอบคำถามในประเด็น 5 จุดเสี่ยงของการเลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรงตามที่นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวในระหว่างการประชุม สปช.

ซึ่งพิจารณาข้อเสนอและความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมาแจกกับสื่อมวลชนโดยมีสาระสำคัญ คือ จุดเสี่ยงที่ 1 ระบุว่าการเลือกนายกฯ และ ครม.ตรงจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งในสังคม เพราะหากพรรคหนึ่งส่งหัวหน้าพรรคและคนสำคัญของพรรค 36 คน เพื่อเป็นบัญชีของผู้ที่จะเป็น ครม.

หากไม่ได้รับเลือกตั้ง บัญชีคนสำคัญ 36 ดังกล่าวอาจตกงานตลอด 4 ปี ขอชี้แจงว่ากรณีนี้มีทางออก คือ การกำหนดให้การเลือกตั้ง ครม. และ ส.ส. เป็นคนละวัน เช่นให้เลือกตั้งฝ่ายบริหารก่อน เมื่อทราบผลว่าทีมใดชนะ ให้เลือก ส.ส.ตามภายหลังโดยทีมที่แพ้การเลือกตั้งฝ่ายบริหารสามารถส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ โดยการแพ้ชนะดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละคน

จุดเสี่ยงที่ 2 ที่ระบุว่า การซื้อเสียงจะรุนแรง เพราะผู้ชนะกินรวบต้องลงทุนมหาศาล ขอชี้แจงว่า การเลือกตั้งฝ่ายบริหารที่กำหนดให้ผู้ชนะได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้สมัคร ถ้ารอบแรกไม่มีผู้ใดชนะ ต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองโดยนำคะแนนลำดับที่ 1 และ ที่ 2 มาเลือกใหม่ เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนส่วนใหญ่ โดยวิธีดังกล่าวหลายประเทศนิยมใช้ แม้จะเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น แต่ถือว่าคุ้มที่จะได้คนที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมาบริหารประเทศ นอกจากนั้นกรณีการเลือกที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องระบุชื่อนายกฯ และ รัฐมนตรี ถือเป็นการสกัดนายทุนพรรคการเมือง

จุดเสี่ยงที่ 3 ที่ระบุว่านายกฯ และ ครม.เข้มแข็งเกินไป เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำให้นายกฯ ปรับ ครม.ไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ สื่อมวลชน ขอชี้แจงว่าการปรับ ครม. สามารถทำได้ แต่ต้องระบุหลักปฏิบัติไว้ในกฎหมาย และหลักเกณฑ์ โดยพิจารณาตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา,

จุดเสี่ยงที่ 4 ที่ระบุว่าการเลือก ครม.โดยตรงจะมีอำนาจเสนอกฎหมาย กฎหมายงบประมาณได้ โดยข้อเท็จจริงประธานาธิบดีสหรัฐสามารถเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาได้ โดยประเด็นนี้หากนายบวรศักดิ์ยังมีข้อมูลที่สังสัยแบบผิดๆ ขอให้อีเมล์ไปถามทำเนียบขาวได้ หรือลองอ่านหนังสือ เรื่อง การเมืองอเมริกาที่ตนเป็นผู้เขียนได้
จุดเสี่ยงที่ 5 ระบบตรวจสอบตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดมหาอำนาจของรัฐบาลได้ ขอชี้แจงว่ากลไกและกระบวนการของระบบแบ่งแยกอำนาจแตกต่างจากกลไกของรัฐสภา ดังนั้นต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า การแบ่งแยกอำนาจต้องออกแบบให้การตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับปัญหาของบ้านเมือง ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวต้องพิจารณาให้ตกผลึก โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเป็นเพียงหลักการเท่านั้น

นายสมบัติให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาตัดสินระบบที่มานายกฯ และ ครม. ในวันที่ 23 ธ.ค. ว่า ถือเป็นอำนาจที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจ โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองถือเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งเท่านั้น

ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาอย่างไรไม่ขอก้าวล่วง แต่กรณีที่ตนออกมาชี้แจงนั้นเพื่อต้องการให้เกิดความยุติธรรมกับข้อเสนอและเป็นข้อมูลให้พิจารณาเท่านั้น และท้ายสุดเมื่อมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะไม่กระทบกับการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน แต่ต้องมีคำอธิบายพร้อมเหตุผลต่อบทบัญญัติที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้อย่างแท้จริง

logoline