svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯระบุ เยือนกัมพูชา หารือท่องเที่ยวเขาพระวิหาร

29 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงศึกษาธิการ -- 29 ต.ค.57 -- นายกฯระบุเยือนกัมพูชา หารือจัดท่องเที่ยวเขาพระวิหารร่วมกัน ยันไม่เอาเรื่องเขตแดนมาเป็นปัญหา เผยกัมพูชาพร้อมดูเรื่องผู้เคลื่อนไหวหลบหนีคดี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกำหนดการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม ว่า จะมีการไปหารือถึงเรื่องพลังงานแต่คงไม่พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องแต่จะไปคุยในทุก ๆ เรื่องความร่วมมือทุกมิติ ทั้งการค้าการลงทุน การส่งเสริมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การท่องเที่ยว และปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงจนทำให้เกิดการปะทะกัน ก็ต้องไปเคลียร์กัน โดยตั้งคณะกรรมการพูดคุยให้เกิดความชัดเจน ในเรื่องของพลังงานก็จะมีการพูดคุยกันว่า ในพื้นที่ทับซ้อนจะทำกันอย่างไร โดยจะคุยผ่านคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ส่วนในระดับผู้นำจะพูดคุยกันว่าเห็นชอบร่วมกันหรือไม่และเมื่อมีการนำไปพูดคุยกันต่อ หากตกลงกันได้ก็ทำ เราจะเอาเส้นเขตแดนมาเป็นปัญหาทั้งหมดคงไม่ได้ ซึ่งการที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดนไม่ได้หมายความว่าใครยอมรับใคร เป็นลักษณะการที่เราอ้างในส่วนของเราและเขาก็อ้างของเขา จนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน จึงยังไม่มีการชี้ชัดว่าเป็นพื้นที่ของใคร ถ้าจะรอการปักปันเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าวก็คงทำอะไรไม่ได้เช่นเดิม ต่อให้อีก 10 ชาติก็คงทำไม่ได้ แล้วจะไปหาแหล่งพลังงานจากไหนก็คงไม่มีใครตอบได้
เมื่อถามว่า จะถือโอกาสพูดกันถึงเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มีการพูดกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีการพูดคุยกันแล้วหลายครั้ง โดยตนและสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และพลเอกเตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกัมพูชา ซึ่งสรุปความเห็นตรงกันว่าเราจะไม่เอาประเด็นของความขัดแย้งมาพูดกันในเวลานี้ เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของทั้งสองรัฐบาลในการพูดคุยกันและทุกประเทศก็พูดเช่นเดียวกัน ซึ่งตนก็พูดกับทุกประเทศรวมเมียนมาร์ ว่าอย่าเอาเส้นเขตแดนมาเป็นเส้นของความขัดแย้งหรือก่อสงครามระหว่างกัน เพราะเราต่างก็เป็นประเทศที่มีรายได้น้อยกันอยู่แล้ว ควรมาหาทางดูแลคนว่าจะเอาอย่างไร และตนคงไม่พูดว่าจะดูแลคนไทยอย่างเดียว จะต้องดูแลคนของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนด้วย เพราะเราอยู่ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นภาระของเรา เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและมีความสมบูรณ์มากกว่า จึงจำเป็นต้องยกระดับเท่าเทียมกันจะได้เข้มแข็งด้วยกัน ต้องทำให้ประเทศอาเซียนมีความเข้มแข็งจึงจะก้าวเข้าสู่ประชาคมโลกได้
"การพูดคุยกันครั้งนี้จะเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเข้มแข็งในภูมิภาค แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่เคยหารือกันแล้วยังตกลงร่วมกันไม่ได้ รวมทั้งจะมีการพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน อย่างเรื่องการท่องเที่ยวของเรา ผมก็ได้สั่งการลงไปว่าให้จัดการท่องเที่ยวเป็นแพคเกจเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือก เช่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ในช่วงเวลา 3-5 วัน โดยแยกให้เห็นอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นว่าประเทศไทยมีอะไรบ้าง อาจจะเป็นลักษณะว่าเที่ยวประเทศไทย 3 วัน ไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 วัน ก็ต้องไปพูดคุยและลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันก่อน" นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนที่จะไปลงนามเอ็มโอยูเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวนั้นก็มีการพูดคุยและทำงานกันทุกวันตลอด 4-5 เดือนแล้ว โดยครั้งนี้ก็จะไปหารือร่วมกันว่าจะดูแลทั้งระบบได้อย่างไร เราต้องนำเขา ที่ผ่านมาเราได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในลักษณะ one stop service และการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งไทยต้องนำร่อง โดยแยกประเภทว่าแรงงานที่เข้ามานั้นจะประกอบอาชีพประเภทใด จะได้มีความชัดเจน ถ้าไม่คุมตั้งแต่ต้นทางก็จะเกิดแง่งเรียกรับผลประโยชน์อีก วันนี้ต้องดูแลสถานบริการที่นำแรงงานไม่ขึ้นทะเบียนมาทำงานต้องปิดกิจการระยะหนึ่ง ซึ่งได้สั่งการเรื่องนี้ไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะจัดแพคเกจการท่องเที่ยวเขาพระวิหารได้ด้วยหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่าได้ และการเดินทางไปเยือนกัมพูชาครั้งนี้ก็จะไปพูดคุยกันเรื่องนี้ ตอนนี้จะขึ้นฝั่งไทยก็ได้ ฝั่งกัมพูชาก็ได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันก่อน
เมื่อถามว่า ในการพูดคุยกับรัฐบาลกัมพูชาจะถือโอกาสหารือเกี่ยวกับผู้ต้องคดีของไทยที่หลบไปอยู่ในพื้นที่กัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พูดกันอยู่แล้วและเรื่องนี้ได้พูดไปแล้ว ซึ่งทางกัมพูชาก็บอกว่าจะดูแลให้ไม่มีปัญหา และเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเขาคุยกันอยู่แล้ว  ที่ผ่านมาก็มีการพระราชทานอภัยโทษนายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ กลับมาแล้ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต่างฝ่ายต่างไม่สนับสนุนในส่วนคนที่มีปัญหา ซึ่งกัมพูชาก็รับปาก ไทยเองก็ต้องช่วยกัมพูชา เพราะมีกลุ่มคนของกัมพูชาที่เคลื่อนไหวมาอยู่ในประเทศของเรา ซึ่งสองประเทศต้องคบกันอย่างนี้ มีความจริงใจกันระหว่างรัฐบาล ถ้าเรามัวแต่ดิสเครดิตไปเรื่อย ๆ มันก็ทะเลาะกันอยู่ดีแล้วประชาชนก็เดือดร้อน
ส่วนที่กลุ่มการเมืองที่หลบหนีไปอยู่ที่กัมพูชา ทางการข่าวรายงานว่ามีการเคลื่อนไหวในขณะนี้หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามรายละเอียดก่อน เพราะหน่วยข่าวกรองมีรายละเอียดอยู่แล้ว และเคยมีการขอร้องกับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วว่าอย่าให้มีการเคลื่อนไหวอะไรอีก ซึ่งการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านทางโซเชียลบ้าง สามารถทำที่ไหนก็ได้ ซึ่งในด้านการข่าวของเราก็มีรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานเราทำทั้งโลก
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาคนจะให้ความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา รัฐบาลปัจจุบันจะโชว์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างไรหรือไม่ พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องโชว์ ประชาชนสามารถดูได้ว่าเหตุการณ์มันสงบหรือไม่ การค้าการลงทุนมีเพิ่มเติมหรือไม่ ปัญหาความขัดแย้งถูกปลุกขึ้นมาใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม วันนี้ผู้นำรอบบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะกัมพูชาพูดเองว่าเป็นโอกาสดีที่สุดของสองประเทศที่รัฐบาลจะพูดจากัน เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป วันนี้เชื่อมั่นว่าทางกัมพูชาไว้ใจการทำงานของรัฐบาลไทย และเขาไม่ได้มาพูดว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จะดูกันเพียงว่าจะคบค้ากันได้หรือไม่ ใครจะมาจากไหนก็เป็นเรื่องของเขา เราเองก็ไม่ได้ไปฝืนเขารวมทั้งประชาคมโลก วันนี้สิ่งที่เราทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งกัมพูชาพูดแล้วว่าเขามั่นใจและชื่นชมกับเรา

logoline