svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตากใบไม่จัดรำลึกเหตุการณ์ 10 ปี

25 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อังคณา นีละไพจิตร เรียกร้องให้มีการรื้อคดี เหตุการณ์ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 รายเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้สูญเสีย ขณะที่นายอำเภอตากใบ ยืนยัน วันนี้จะ ไม่จัดงานรำลึกครบ 10 ปี เหตุการณ์ครั้งนั้น

นายสมศักดิ์ สิทธิวรการ นายอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส บอกว่า บรรยากาศช่วงครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบเป็นไปอย่างสงบเงียบ ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ ส่วนการรักษาความปลอดภัยในช่วงนี้ จะเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น เข้มงวดทุกจุด แต่จะไม่มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ส่วนประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ เขาเชื่อว่า ลืมเลือนเหตุการณ์ดังกล่าวไปบ้างแล้วนายอำเภอตากใบ ยืนยันว่า วันนี้จะไม่มีการจัดกิจกรรมรำลึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นมากแล้ว
ทั้งนี้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน หลังทหาร ตำรวจ เข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่รวมตัวประท้วง ที่หน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ก่อนจะเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร) ด้วยวิธีการจับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วหิ้วขึ้นไปเรียงทับกัน 3-4 ชั้นบนกระบะรถยีเอ็มซี ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (หรือไต่สวนการตาย) เมื่อ 29 พ.ค.2552 ว่า ผู้เสียชีวิต ตายเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" ขณะที่อีกหลายคนต้องกลายเป็นผู้พิการ
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดทศวรรษ บอกว่า จริงๆ แล้วหลังจากศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ได้ทำสำนวนเพื่อส่งอัยการและส่งฟ้องศาลดำเนินคดีต่อไป โดยสำนวนระบุถึงเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับกุมและเสียชีวิตบนรถ เป็นผู้ต้องหา และส่งให้อัยการฟ้องร้องต่อศาล แต่ปรากฏว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้
คุณอังคณา บอกว่า เท่าที่เธอทำงานสัมผัสในพื้นที่ ต่างตั้งข้อสังเกตุมาโดยตลอดว่า เพราะอะไร อัยการถึงบอกว่าไม่มีพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่มีประจักษ์พยานเป็นพันคน และคนที่อยู่บนรถแต่ละคันนั้น ย่อมเป็นพยานได้อย่างดีว่าคนที่ตาย ตายอย่างไร พออัยการสั่งไม่ฟ้อง ตัวผู้เสียหายก็ไม่กล้าฟ้องเอง เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย
คุณอังคณา บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่า คดีนี้ อัยการต้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และนำคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งให้ผู้เสียหายทั้งหมด สามารถเข้ามาเป็นส่วนร่วม หรือเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ เพื่อที่จะบอกว่าสุดท้ายมีใครต้องรับผิดชอบบ้าง จากการปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากคดีจบแล้วอาจจะมีการรอลงอาญาหรืออะไรก็แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดการพิจารณาในศาล จะเป็นรูปแบบหนึ่งของการเปิดเผยความจริง ญาติผู้เสียชีวิตแต่ละคนจะรู้ว่าพ่อ หรือสามีของตนเสียชีวิตอย่างไร

logoline