svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรเพชร"วางระบบงานกฎหมาย ต้องยึดประชาชน

31 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

(สัมภาษณ์พิเศษ - พรเพชร วิชิตชลชัย) ผมยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อประชาชนเป็นหลัก โดยเป็นการชดเชยที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ได้มาจากการเลือกโดยประชาชน จึงต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

นั่นเป็นคำมั่นของ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ให้ไว้กับสาธารณะในบทบาทประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากที่เรียนรู้งานประธานในที่ประชุมมาครบ 2 สัปดาห์ แม้เจ้าตัวจะออกปากว่า ยังไม่คุ้น กับบทบาทประธาน แต่งานในสภาใช่ว่าจะไม่เคยสัมผัส เพราะที่ผ่านมาฐานะนักกฎหมายได้เข้าคลุกงานวงในจากบทบาทกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายและชี้แจงปมกฎหมายมาแล้ว
จึงไม่แปลกที่ พรเพชร ฐานะตัวเชื่อม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่สำคัญ
บทบาท ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เขาได้รับ กับงาน ปฏิรูป ที่เป็นงานเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้า คสช. วางไว้อันดับหนึ่ง ถูกจับตาตั้งแต่วินาทีแรกเมื่อได้รับบทบาทสำคัญ สิ่งที่ พรเพชร วางเป็นแนวทางเพื่อให้ สนช. เป็นกลไกขับเคลื่อนงานปฏิรูป คือ การตั้งกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับ สภาปฎิรูปแห่ชาติ
รูปแบบทำงานของกรรมาธิการฯ ผมไม่สามารถสั่งการได้ แต่วัตถุประสงค์สำคัญ คือ ทำงานคู่ขนาน ประสานงานร่วมกัน หลังจากที่สภาปฏิรูปคิดค้นแนวทางปฏิรูปที่ต้องทำด้วยกฎหมาย กรรมาธิการฯ สนช.จะนำความคิดนี้มาพิจารณาเป็นประเด็นหลัก โดยสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือ คือ มีรูปแบบ มีกระบวนการตรวจสอบ และยึดถือหลักนิติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ประชาชน โดยประเด็นการเขียนกฎหมายนั้นต้องยึดประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ผมยอมรับว่าในชั้นนี้ ประชาชนยังไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาโดยตรงได้ แต่ยังมีวิธีโดยอ้อม เช่น การนำเสนอความเห็น ร่างกฎหมายผ่านสภาปฏิรูป หรือ ผ่านสมาชิก สนช. ที่ตามรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ด้วยการร่วมลงชื่อ 25 คนขึ้นไป
ในส่วนทำหน้าที่ สนช. ที่ถือเป็นแนวร่วมพัฒนาและปฏิรูปประเทศ ประมุขนิติบัญญัติ คาดหวังไว้อย่างสูงว่า จะสร้างกฎหมายที่เป็นรากฐานที่ดีได้ โดยนำจุดบกพร่องของสภา ที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเป็นจุดผลักดันให้การออกกฎหมายต้องดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยไม่มีการเขียนกฎหมายเพื่อเกิดประโยชน์กับหน่วยงานใด
สำหรับกฎหมายฉบับที่วาดฝัน แม้จะยังระบุเป็นรายฉบับที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ พรเพชร ได้แสดงจุดยืนอย่างมาดมั่นไว้ว่า ต้องเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อสร้างระบอบปกครองที่มั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน โดยอาจจะมีบางประเด็นที่สมาชิกสนช.เป็นผู้เสนอเอง แบบไม่ต้องรอรับงานมาจาก คสช. หรือ รัฐบาล และขณะนี้ทางสมาชิก ได้เริ่มพูดคุยกันบ้างแล้ว ส่วนการให้ความสำคัญนั้นจะไม่ได้มองว่าบุคคลใดเป็นผู้เสนอ แต่จะพิจาณาว่าเนื้อหาร่างกฎหมายนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชน หรือต่อการพัฒนาบ้านเมืองหรือใหม่
ความเห็นส่วนตัวของผมมองว่า การพัฒนาบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองนั้น ตัวกฎหมายเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายเท่านั้น แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ สิ่งนี้ต้องตระหนักให้ดี เพราะกฎหมายไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้คนในสังคมมีจริยธรรม คุณธรรม แต่กฎหมายไม่สามารถบังคับเขาได้ เราจึงต้องใช้การเสริมสร้างทางอื่น หรือเราไม่สามารถเขียนกฎหมายให้คนทุกคนมีฐานะดีขึ้นได้ แต่เราสามารถเขียนกฎหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคได้ พรเพชร กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
ทั้งนี้การเกิด สภาสนช. ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการยึดอำนาจ โดย คสช. และผู้ทำคลอดคือคนกลุ่มเดียวกัน ทำให้สนช.ชุดนี้ ถูกตีตราว่างานที่ทำเพราะมีใบสั่งจากผู้มีพระคุณ ในประเด็นนี้ประธาน สนช กล่าวยอมรับเหตุที่ สภาสนช. ต้องรับใช้ คสช. ในฐานะรัฎฐาธิปัตย์ โดยแผนระยะที่2 ที่คสช.กำหนดคือการเป็นนิติรัฐ แม้จะไม่ใช่แบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่กลไกการปกครองบ้านเมืองด้วยกฎหมาย เป็นงานที่สนช.ต้องทำหน้าที่นี้ อย่างไรก็ดีก็ต้องวางกฎทำงาน โดยยึดหลักนิติธรรมเป็นสำคัญ
แต่ในประเด็นรับใช้ คสช. นั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดย ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวยืนยันว่ายังไม่มีพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก คสช. จัดทำรอ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ ส่วนบทบาทสำคัญของ สนช. ที่ต้องส่งตัวแทนเข้าไปในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น ขณะนี้วางแนวทางคัดเลือกไว้แล้ว โดยใช้กลไกของกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือ วิปฯสนช. ไปสรรหา โดยเริ่มจากความสมัครใจของสมาชิก และวิปฯสนช.จะพิจารณาความเหมาะสมจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ที่อาสาตัวไม่จำเป็นต้องผ่านการร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่สิ่งที่ต้องยึดอย่างสำคัญ คือ เป็นผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือ เป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ร่วมยกร่าง ทั้งนี้เป็นการป้องกันข้อครหา
ส่วน รูปโฉมของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เตรียมการยกร่าง ราวๆ เดือนตุลาคม มือยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 วาดภาพคร่าวๆ ไว้ว่าจะยึดหลักใหญ่ของบทบัญญัติจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ที่ทำไว้ดี เช่น บทบัญญัติว่าด้วยการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง, การตรวจสอบเอาไว้ ส่วนที่มีปัญหา เช่น การทำหน้าที่ของภาคประชาชน ในรัฐสภา, บทบาทฝ่ายนิติบัญญัติ, ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ คงพิจารณาในประเด็นปรับโครงสร้าง หรือการจัดองค์กรฝ่ายต่างๆ ต่อประเด็นความเชื่อมโยง หรือคามสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงเรื่องการเลือกตั้ง, ความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ซึ่งมีประเด็นที่ไม่มาก ที่ต้องนำไปคิด
ในแนวทางการปฏิรูป การพัฒนาบ้านเมือง และการยกร่างรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับ องค์รัฎฐาธิปัตย์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ผูกความเชื่อมโยงของกลไก 5 ฝ่าย คือ คสช., รัฐบาล, สนช.,สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างแยกขาดกันไม่ได้ ในประเด็นนี้ พรเพชร เฉลยความไว้ว่า หลักใหญ่ ของการรัฐประหาร คือ เพื่อการปฏิรูป เมื่อมีศูนย์กลางเช่นนั้นองค์กรที่เชื่อม ต้องมาจากต้นทาง เช่น เมื่อเปิดให้ สปช. มาจากหลากหลาย เมื่อถึงภาคปฏิบัติ คือ นำสิ่งที่เขาคิดมาเป็นรูปธรรม ไม่ว่าเป็นการร่างกฎหมาย หรือ ร่างรัฐธรรมนูญ เขาไม่สามารถทำได้ด้วยมีขีดจำกัดด้านความรู้ ด้วยเหตุนี้จึงมี สนช.คอยรับลูก และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ไปทำ รัฐบาลก็เช่นกันก็ต้องรับสิ่งที่ สปช.คิดไปปฏิบัติ

logoline