svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วิป สนช.แจงหลักเกณฑ์เลือกนายกฯ 21 ส.ค.

20 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

20 ส.ค. 2557 - วิปสนช.แจงหลักเกณฑ์เลือกนายกฯ 21 ส.ค.นี้ ต้องได้เสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่ง ชี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุม

เมื่อเวลา 13.00 น. น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์  โฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมวิปสนช.ว่า ที่ประชุมมีมติให้มีการประชุมสนช.สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพฤหัส และวันศุกร์ เวลา 10.00 น. โดยจะประชุมวิปสนช.ทุกวันอังคาร นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสนช. เสนอมา โดยในการประชุมสนช.วันที่ 21 ส.ค.นี้จะมีเพียงวาระเดียวคือ  การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีขั้นตอนคือ ประธานสนช.จะเสนอหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกนายกฯต่อที่ประชุมสนช.เพื่อให้ที่ประชุมรับรองและเห็นชอบในการใช้ดำเนินการเลือกนายกฯ  จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกสนช.เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้การเสนอชื่อต้องมีสมาชิกสนช. 1 ใน 5 ให้การรับรอง  หรือประมาณ 40 คน โดยใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนนในการรับรอง แทนการยกมือรับรองเหมือนที่ผ่านมา  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรับรองชื่อซ้ำซ้อนกัน หากมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน
                น.พ.เจตน์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการเสนอชื่อบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้รับรองครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนการคัดเลือกจะให้เลขาธิการวุฒิสภาขานรายชื่อสมาชิกสนช. เพื่อให้ลงมติโดยเปิดเผยว่า เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง โดยผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสนช.ที่มีอยู่  ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุม ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพียงแต่ผู้เสนอชื่อต้องรับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติว่า บุคคลดังกล่าวต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต้องมีการทาบทามบุคคลดังกล่าวมาล่วงหน้าแล้ว
                น.พ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณากฎหมายเร่งด่วน ขณะนี้คสช.เสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณา 10 ฉบับ ซึ่งสนช.จะพิจารณาในเบื้องต้นก่อน 6 ฉบับได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย 2.ร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 3.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 4.ร่างพ.ร.บ.ศุลกากร 5.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 6.ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494             
                 นายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการวิปสนช. กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯไม่จำเป็นต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ และไม่ต้องมาแสดงตัวในที่ประชุมสนช.  ส่วนข้อห่วงใยถึงความเหมาะสมหรือเป็นไปตามคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คิดว่าผู้ที่จะเสนอชื่อใคร ก็คงได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว และต้องมีการทาบทามบุคคลที่จะเสนอชื่ออยู่แล้ว ว่าคนๆนั้นพร้อมจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มีความเหมาะสม  และไม่มีอะไรไม่ชอบธรรม ซึ่งการยึดอำนาจในสภาวะบ้านเมืองไม่ปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากอยู่แล้ว และพล.อ.ประยุทธิ์ เองก็มีอำนาจที่จะตั้งตัวเองได้เลย แต่กลับมอบมาให้สนช.เป็นผู้เลือกให้ความเห็นชอบ จึงขอให้รอดูที่ประชุมสนช.ในวันที่ 21 ส.ค.  

logoline