svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

3 ปัจจัยดัน "สมยศ" เบียด "เอก" ขึ้น ผบ.ตร.คนที่ 10

20 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นกระแสที่กลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้งสำหรับการชิงเก้าอี้เบอร์ 1 กรมปทุมวัน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช.ในช่วงสายวันนี้ (20 ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่

ถือเป็น ผบ.ตร.คนที่ 10 นับตั้งแต่มีการโอนกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นบังคับบัญชาโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2541
การประชุม ก.ต.ช.วันนี้ จะเป็นครั้งแรกของ ก.ต.ช.โครงสร้างใหม่ ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 88/2557 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ จำนวนกรรมการ ก.ต.ช.ลดลงแต่มีตำแหน่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม กับผู้มีอำนาจเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ เปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรี เป็น ผบ.ตร.คนปัจจุบัน
งานนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. (รรท.ผบ.ตร.) จึงต้องรับบทเสนอชื่อ "ว่าที่ผู้นำสีกากี"
และนั่นคือ 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในวงการตำรวจแทงหวยกันว่า ผู้ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนที่ 10 น่าจะเป็น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร.มค. (รับผิดชอบงานความมั่นคง) อาวุโสอันดับ 3 เบียดแซงคู่แข่งสำคัญอย่าง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.ปป.1 (รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม) ไปได้สำเร็จ แม้รายหลังจะมีอาวุโสอันดับ 1 ก็ตาม
สามปัจจัยที่เป็นแรงหนุนของ พล.ต.อ.สมยศ ประกอบด้วย
1.ผลงาน โดยเฉพาะการคลี่คลายคดีความมั่นคงในช่วงชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีชายชุดดำ แก๊งยิงเอ็ม 79 ตามยึดอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ คสช. ปรากฏว่า พล.ต.อ.สมยศ โชว์ผลงานได้สวยงาม และทำงานเข้าขากับฝ่ายทหารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15)
ขณะที่ พล.ต.อ.เอก แม้จะมีผลงานด้านปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดีสำคัญๆ มาตั้งแต่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ยังนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.เต็มก้น แต่นั่นก็เป็นคดีอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งเป็นหน้างานหลักของตำรวจอยู่แล้ว ประกอบกับระยะหลังๆ เริ่มมีอาการ "หลุด" ให้เห็น เช่น คดีข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปีบนรถไฟ มีข่าวเรื่องจัดฉากให้แม่ของเด็กเข้ามอบดอกไม้ขอบคุณทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ
จะว่าไปเหตุการณ์อื้อฉาวนี้ก็เป็นผลมาจากการเป็นคู่แคนดิเดตเบียดชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.กันอย่างดุเดือดนั่นเอง...
2.สายสัมพันธ์ หรือคอนเนคชั่น พล.ต.อ.สมยศ มีจุดเด่นในแง่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 31 ทำให้มีเพื่อนฝูงในแวดวงคนในเครื่องแบบมาก เช่น พล.อ.ไพบูลย์ ดังที่กล่าวแล้ว ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ ก็มีบทบาทอย่างสูงใน คสช. และมีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.คู่กับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. รวมทั้งมีชื่อในโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น พล.ต.อ.สมยศ ยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับคนในตระกูล "วงษ์สุวรรณ" โดยเฉพาะสองพี่น้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษา คสช. กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงขนาดมีคนเห็นร่วมโต๊ะอาหารกันบ่อยๆ
แล้ว พล.อ.ประวิตร มีอิทธิพลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดนั้น? คงไม่ต้องจาระไนให้มากความ ตัวอย่างง่ายๆ คือกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 93/2557 ยกโทษปลดออกจากราชการให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท (เกษียณอายุราชการแล้ว) ตามคำสั่งศาลปกครอง อันสืบเนื่องจากคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2551 ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ร้องเรียนและร้องขอความเป็นธรรมมาถึง 2 รัฐบาล (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แต่มาสมหวังในยุค คสช.
ขณะที่สายใยแห่งความแนบแน่นยังแผ่ไปถึง "หลังบ้าน" ด้วย เพราะในงานเลี้ยงครบรอบ 28 ปีการสถาปนาสมาคมแม่บ้านตำรวจ ซึ่งมี รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เป็นประธาน เมื่อไม่กี่วันมานี้นั้น มีคนเห็น สมถวิล วงษ์สุวรรณ ภรรยาของ พล.ต.อ.พัชรวาท แสดงความสนิทสนมกับ พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง ภรรยาของ พล.ต.อ.สมยศ เป็นพิเศษ ทำให้ลือกันไปอีกยกหนึ่งว่าหลังบ้านยังขนาดนี้ หน้าบ้านมิต้องเรียกว่า "แบเบอร์" แล้วหรือ
อย่างไรก็ดี ในรายของ พล.ต.อ.เอก แม้จะไม่ได้มีสายสัมพันธ์ซับซ้อนเหมือน พล.ต.อ.สมยศ และเป็นนายร้อยอบรม ไม่ใช่ นรต. แต่ประวัติชีวิตและผลงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขี้เหร่ โดยเฉพาะการมีดีกรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ปริญญาโทสาขาเดียวกันจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทำให้มีความสามารถในเรื่องงานสอบสวน มีเพื่อนพ้องและได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างมาก ซ้ำยังเป็นศิษย์เก่าวัดนวลนรดิศ โรงเรียนเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้เป็นน้องชายด้วย
แต่ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับ "วัดนวลฯคอนเนคชั่น" เป็นกรณีพิเศษ
3.ขั้นตอนการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ เมื่อ พล.ต.อ.วัชรพล กลายเป็นผู้เสนอชื่อ ผบ.ตร. ก็ต้องย้อนไปดูประวัติว่า พล.ต.อ.วัชรพล คือ มือขวาของ พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ฉะนั้นจากสายสัมพันธ์ที่ยกมาอธิบายข้างต้น จึงค่อนข้างชัดเจนว่า พล.ต.อ.วัชรพล จะเลือกเสนอชื่อใคร
กระแสข่าววงในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุด้วยซ้ำว่า พล.ต.อ.วัชรพล เสนอชื่อไปยังหัวหน้า คสช.เรียบร้อยแล้ว และเสนอเพียงชื่อเดียว!
โอกาสของ พล.ต.อ.สมยศ ที่น่าจะผงาดขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนที่ 10 นั้น ยังวัดจากกระแสโจมตีเขาที่มีมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลังด้วย โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินจำนวนมหาศาลจองซื้อหุ้นในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะการถูกโจมตีหรือเตะตัดขา ย่อมหมายถึงว่าเขากำลังจะเข้าวิน
ส่วนที่มีข่าวกระเซ็นกระสายว่า คสช.อาจเลือกแนวทางรอมชอม ด้วยการแบ่งให้คู่ชิง ผบ.ตร.ได้สมหวังกันคนละปี โดยให้ พล.ต.อ.สมยศ เป็นก่อน เพราะจะเกษียณอายุราชการในปี 2558 จากนั้นจึงตามด้วย พล.ต.อ.เอก ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2559 นั้น ในความเป็นจริงแล้ว "สัญญาใจ" ลักษณะนี้เกิดขึ้นยากมากในวงการตำรวจ เพราะตำแหน่ง ผบ.ตร.พลิกผันไปตามทิศทางการเมือง
ประกอบกับหาก พล.ต.อ.สมยศ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.จริงๆ เขาจะมีสิทธิ์เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ในปีหน้า แล้วเขาจะเสนอชื่อคนที่เบียดแย่งตำแหน่งกันมาดุเดือดอย่าง พล.ต.อ.เอก หรือ
ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้จึงเข้าสู่โหมดแตกหัก และอาจมีโอกาสพลิกผันได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะคนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือคนที่นั่งหัวโต๊ะอย่าง พล.อ.ประยุทธ์
แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ รอยร้าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งยิ่งนานยิ่งยากจะประสานมากขึ้นทุกที ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำสีกากีคนใหม่ก็ตาม!

logoline