svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" อำนาจเด็ดขาดในมือ "ประยุทธ์"

23 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก่อน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557" ออกมา สังคมให้ความสนใจไปที่ รูปร่างหน้าตา และที่มา ของ สภานิติบัญญัติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรายละเอียดรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว จุดน่าสนใจกลับไปอยู่ที่เรื่อง "อำนาจ" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากกว่า

"อำนาจ" ของ คสช. มีทั้งส่วนที่เป็นของ "คสช." และอำนาจของ "หัวหน้า คสช." คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง
คนที่ได้อ่าน "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" พูดแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) หรือ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" มี "อำนาจเบ็ดเสร็จ" โดยเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่อยู่เหนือ "นายกฯ" และ "คณะรัฐมนตรี" นั่นคือ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกฯตามที่มีการวิเคราะห์กันหรือไม่ อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นก็จะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็น "หัวหน้า คสช."
อำนาจที่สำคัญที่สุดของ "ประยุทธ์" มีอยู่มาตรา 44 คือ "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"
ทั้งนี้ใจความของมาตรานี้ คือ สิ่งที่เคยถูกเรียกว่าเป็น "มาตรา 17" โดยมี มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญปี 2502 สมัย "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" เป็นต้นแบบ เพียงแต่ที่ผ่านมาอำนาจนี้จะเป็นของ "นายกรัฐมนตรี" เพื่อให้นายกฯมีความเฉียบขาดในการจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อความฉับไวในการแก้ไขปัญหา
ที่ผ่านมาเคยมีการกำหนดเนื้อหา "มาตรา 17" นี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับในมาตราที่แตกต่างกันไป คือ1. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 172. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 มาตรา 173. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 214. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 มาตรา 27
สำหรับธรรมนูญการปกครอง 2534 ก็กำหนดเรื่องนี้ไว้เช่นกัน แต่ให้เป็นอำนาจของนายกฯร่วมกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้น คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
นอกจาก "อำนาจเด็ดขาด" ตามมาตรา 44 แล้ว "หัวหน้า คสช." ยังมีอำนาจทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และ บริหาร ในช่วงที่ยังไม่มี สนช. และ ค.ร.ม. ด้วย
นอกจากอำนาจของ "หัวหน้า คสช." โดยตรงแล้ว ในส่วน "คสช." มีอะไรอีกบ้าง?
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขยายขอบเขตอำนาจของ "คณะยึดอำนาจ" ให้กว้างขวางกว่าเคย ซึ่งรวมถึง การที่เขียนให้ คสช.สามารถ "สั่ง" ครม.ได้ และ เสนอ "ปลด" นายกฯได้ด้วย
อำนาจที่สำคัญของ คสช. มี 10 ประการ เช่น คัดเลือกบุคคลเป็น สนช. ไม่เกิน 220 คน, คัดเลือกบุคคลเป็น สปช. ไม่เกิน 250 คน, เสนอชื่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กมธ. อีก 5 คน, ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต่อกมธ.ยกร่างฯ, ประชุมร่วมกับ ค.ร.ม. เพื่อหารือเรื่องความั่นคงหรือเรื่องอื่น และที่น่าสนใจ คือ อำนาจในการ "ปลด" นายกฯ ตามมาตรา 19 วรรค 3 คือ "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคําแนะนําตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้รัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา" และอำนาจในการ "สั่ง" คณะรัฐมนตรี มาตรา 42 วรรค 3 "ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ในมาตรา ๑๙ ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป"
นอกจากเรื่อง "อำนาจ" คสช.แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกำหนดใหม่ๆที่ไม่เคยปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อนด้วย เช่น การกำหนด "สเป๊ก" ของรัฐธรรมนูญถาวรที่คณะกรรมาธิการยกร่างจะออกมา โดยกำหนดไว้ 10 ข้อ ที่น่าสนใจคือ เรื่องกลไกป้องกันการทุจริต การกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ และการสกัดไม่ให้ "คนโกง" อันได้แก่ "ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม" เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
ในส่วนนี้เองที่ "วิษณุ เครืองาม" ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ คสช. ซึ่งเป็นมือร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ อธิบายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแหวกแนว หรือขาดอะไร จนเกิดการกล่าวหาว่า "สูญเปล่า เสียของ"
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตอีกจุด คือ ในมาตรา 22 "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย" โดยธรรมนูญการปกครอง และรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปี 2515, ปี 2519, ปี 2534 และปี 2549 เขียนไว้เท่านี้ แต่ครั้งนี้มีการเพิ่มข้อความเข้าไปด้วยว่า "พระราชอํานาจในการพระราชทานอภัยโทษ และพระราชอํานาจในการอื่นตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
สำหรับเรื่อง สนช. ให้มีไม่เกิน 220 คน มีที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำหนดให้มีไม่เกิน 250 คน ให้มีกระบวนการสรรหา การรับสมัครจาก 11 กลุ่มปฏิรูป และจากแต่ละจังหวัด และขั้นตอนสุดท้าย คสช.คือ ผู้คัดเลือก
ในส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มี 36 คน โดยให้ คสช.เสนอชื่อคนที่จะมาเป็นประธาน กมธ. ส่วนอีก 35 คน มาจากการเสนอของ สปช. 10 คน จาก คสช., สนช., และ ค.ร.ม. อีกอย่างละ 5 คน โดยกำหนดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 120 วัน แล้วส่งให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อน
และแน่นอนเรื่องที่จะขาดไม่ได้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ การ "นิรโทษกรรม" ให้กับ คสช. ทั้งในส่วนที่เป็นการออกประกาศ คำสั่ง และให้การกระทำทั้งหลายเนื่องจากการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
วิษณุ บอกว่า รัฐธรรมนูญนี้มี 48 มาตรา ซึ่งยาวกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ผ่านมา "อาจจะดูเข้มงวดกวดขัน พะรุงพะรัง แต่ก็จำเป็น เพราะเป็นต้นทางของแม่น้ำ 5 สาย คือ สนช., ค.ร.ม., สปช., กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช."
รัฐธรรมนูญชั่วคราวคือจุดเริ่มต้นของ "โรดแมพ" ระยะที่ 2 ของ คสช. จับตาดูก้าวย่างต่อไป ก่อนจะไปถึงระยะที่ 3 คือ การเลือกตั้ง!

logoline