svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คมนาคม-รฟท.”เฮ! ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์”

13 มีนาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

13 มี.ค.57 - ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ "คมนาคม-รฟท.”เฮ! ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์” 11,888 ล้านบาท

ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ -13 มี.ค.2557-- เวลา 11.00 น.ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำ 119/2547 และ 44/2550 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) กับ บริษัทโฮปเวลล์ประเทศไทย จำกัด คู่สัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกทม. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 51 และ 15 ต.ค. 51 ที่อนุญาโตชี้ขาดให้คมนาคมและรฟท.ต้องชดใช้เงินค่าเสียหายรวมจำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับโฮปเวลล์ กรณีบอกเลิกสัญญาโดยคดีนี้ คมนาคมและ รฟท. ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองรวม 3 สำนวน คือ คดีหมายเลขดำ 107/2552 , 2038/2551 , 1379/2552 เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโต ซึ่งกรณีสืบเนื่องจากคมนาคมและรฟท. ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรฟท. กับโฮปเวลล์ ลงวันที่ 9 พ.ย. 33 หลังจากสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วได้มีการเร่งรัดให้โฮปเวลล์ดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่การก่อสร้างล่าช้ามากคมนาคมจึงได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเห็นควรบอกเลิกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากโครงการนี้ได้ใช้เวลาในการดำเนินการมาประมาณ 6 ปี แต่ผลการดำเนินงานก่อสร้างต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงานมาก และคาดหมายได้ว่าโฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งครม.ได้มีมติเห็นชอบการบอกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 41 คมนาคมจึงได้แจ้งบบอกเลิกสัญญาและห้ามมิให้โฮปเวลล์เข้าไปเกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการ ซึ่งโฮปเวลล์ได้มีหนังสือโต้แย้งการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 41 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 47 โฮปเวลล์จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตวินิจฉัยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 119/2547 ขณะที่คมนาคมและรฟท.ได้ยื่นคำคัดค้านและยื่นข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 48 ขอให้โฮปเวลล์ชำระเงินจำนวน 59,581,788,026.15 บาท และขอให้อนุญาโตตุลาการยกคำขอของโฮปเวลล์ ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 คือ 1. ให้คมนาคมและรฟท. คืนเงินค่าตอบแทนให้กับโฮปเวล ที่ชำระให้รฟท. จำนวน 2,850 ล้านบาท , 2.ให้คมนาคมและรฟท. คืนเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท ให้แก่บริษัทโฮปเวล และ3. ให้คมนามาและรฟท. ใช้เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9 พันล้านบาท ให้กับโฮปเวลล์ รวมเป็นเงินต้องชำระทั้งสิ้นกว่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่มีการรับเงินค่าตอบแทนในแต่ละงวด และวันที่โฮปเวลล์ได้จ่ายเงินค่าทำเนียมแต่ละงวดให้แก่ธนาคารจนกว่าจะชำระเสร็จขณะที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 และแดง 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค. 51 ให้ยกข้อเรียกร้องของคมนาคมและรฟท.เมื่อวันที่ 20 ก.ย.48 ที่ขอให้บริษัทโฮปเวลล์ชำระเงินจำนวน 59,581,788,026.15 บาท และที่ขอให้อนุญาโตฯ ยกคำร้องของบริษัทโฮปเวลล์ เนื่องจากบริษัทโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คมนาคมและรฟท.เป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งคมนาคมและรฟท.เห็นว่าการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคำชี้ขาดยังขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลปกครองกลางพิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าเมื่อกรณีนี้เป็นสัญญาทางปกครอง การนับอายุความที่คู่ความมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้นั้น จะต้องพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้ว่าอายุความทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้คู่สัญญาในคดีนี้อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ยาวนานที่สุดมีกำหนด 10 ปี แต่เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง และให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แล้ว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จะมีระยะเวลาการนำคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองมาฟ้องต่อศาลปกครองจะสั้นลงกว่าอายุความทางแพ่ง ก็เพราะเนื่องจากสัญญาทางปกครองเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้นการยื่นฟ้องจึงต้องยื่นภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 ซึ่งต่อมามีการแก้ไขมาตราดังกล่าวให้การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองยื่นฟ้องได้ภายใน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ก.พ. 51 ดังนั้น จึงแปลว่าระยะเวลายาวนานที่สุดที่คู่กรณีอาจตกลงกันในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงต้องใช้ระยะเวลาตามมาตรา 51 ดังนั้นเมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 41 ซึ่งเป็นวันที่โฮปเวลล์ ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการยื่นวินิจฉัยข้อพิพาทจะครบกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 51 ในวันที่ 30 ม.ค. 46 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 47 โดยคมนาคมและรฟท. ยื่นร้องแย้งต่ออนุญาโตเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 48 ดังนั้นการเสนอข้อพิพาททั้งสองกรณี จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 51 ศาลจึงเห็นว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายไว้พิจารณาเพื่อชี้ขาดได้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณากระทั่งมีคำชี้ขาดวันที่ 30 ก.ย.51 และ 15 ต.ค. 51 จึงเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 40 วรรค3 (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งสองฉบับทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 ที่วินิจฉัยให้คมนาคมและรฟท.ชำระเงินคืนให้โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่คมนาคมและรฟท. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายคู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ผู้แทนที่เดินทางมาฟังคำสั่งในวันนี้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ เนื่องจากผู้บริหารของโฮปเวลล์ได้สั่งกำชับในการให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่าจะนำผลของคำพิพากษาให้ผู้บริหารโฮปเวลล์พิจารณาว่าจะใช้สิทธิใดๆทางกฎหมายยื่นอุทธรณ์หรือไม่ 

logoline