svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

20 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศาสตร์พระราชา"พลิกฟื้นผืนดินลูกรังจนกลับมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ ช่วยพลิกฟื้น "ลุงแสวง" หรือ นายแสวง ศรีธรรมบุตร เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่าง ข้าวโพด อ้อย ยูคาลิปตัส ที่ ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี

       ด้วยความเชื่อที่ว่าอยากมีชีวิตสุขสบายต้องมีเงินทองจำนวนมาก เป็นแรงผลักดันให้ "ลุงแสวง" หรือ นายแสวง ศรีธรรมบุตร เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่าง ข้าวโพด อ้อย ยูคาลิปตัส ที่ ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จนต้องผันตัวจากเกษตรกรไปขายแรงงานที่ประเทศตะวันออกกลางถึงสองครั้งสองครา หากใช่ว่าเจ้าตัวและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่กลับทำให้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น จากระดับไม่กี่พันบาทขยับขึ้นไปถึงหลักหมื่นและหลักแสนในเวลาเพียงไม่กี่ปี

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

นายแสวง ศรีธรรมบุตร หรือ ลุงแสวง เดินตามรอยเท้าพ่อ

และเมื่อรู้สึกหมดหวังในชีวิตอย่างที่สุด "ลุงแสวง" ตัดสินใจครั้งใหญ่นั่นคือ การประกาศขายที่ดินผืนสุดท้ายจำนวน 31 ไร่ แต่เพราะไม่มีใครยอมซื้อแม้ว่าจะขายราคาถูก ด้วยว่าที่ดินผืนดังกล่าวมีสภาพเป็นดินปนหิน หรือดินลูกรัง ถึงขนาดมีคนพูดว่า "ถ้าที่ดินลุงแสวงปลูกได้ ประเทศไทยก็ไม่จนหรอก"...!!! 

นี่เองจึงเป็นที่มาของการเข้าอบรมเรื่อง "ศาสตร์พระราชา" ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อกลับมาก็พลิกฟื้นผืนดินลูกรังจนกลับมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ มีปลาเต็มบ่อ...พิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชาช่วยแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า และเป็นทางออกของการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปี

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

มั่งคั่งไปด้วยผลผลิต

"ลุงแสวง" ต้นแบบความสำเร็จจากโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" โดยเชฟรอนประเทศไทย เล่าให้ฟังอีกว่า ปัจจุบันที่ดิน 31 ไร่ ตอนนี้ทำนา 10 ไร่ เพาะปลูกไม้ผล ปลูกผักสวนครัวปลอดสาร 21 ไร่ มีบ่อน้ำ 12 บ่อ ไว้เก็บน้ำฝนทุกเม็ดทำเกษตร การไปเรียนรู้ศาสตร์พระราชาสอนให้พออยู่ พอเพียง อย่ามุ่งแต่เงินทองหรือวัตถุ ทุกวันลุกขึ้นมาแต่เช้าทำไร่ทำนา รู้สึกว่าค่ำไว เวลาน้อย รู้สึกมีความหวังทุกวัน ได้เห็นผลจากดิน ปลูกอะไรก็ขึ้น กล้วยมีเป็นพันต้น ไม่รวมมะนาว มะละกอ มั่งคั่งด้วยข้าวปลาอาหาร เปลี่ยนจากที่เคยมั่งคั่งด้วยหนี้สิน ที่สำคัญลูกชาย ลูกสาวกลับมาอยู่กับครอบครัว ศาสตร์พระราชาทำให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ตอนนี้มีชาวบ้านมาเรียนมาแบ่งปันความรู้ ลองทำตามแนวทางนี้หลายรายแล้ว อนาคตจึงตั้งใจอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาให้แต่ละพื้นที่ในภาคอีสานเข้ามาเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

บ่อน้ำเก็บกักน้ำฝนทุกเม็ดตามแนวคิดโคก หนอง นา โมเดล

...."ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ลองทำศาสตร์พระราชา จะพบกับความสุขมากมาย ทำจริงแค่ 1-2 ปี เห็นผล พระองค์เป็นยอดพระราชา" ลุงแสวง ในวัย 60 ปี เผยถึงหนทางแห่งความมั่งคั่งความสุขบนวิถีแห่งความพอเพียง

โอกาสที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและการผลิต จำกัด ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมบริหาร ร่วมกับ "อาจารย์ยักษ์" ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดกิจกรรม "เอามื้อสามัคคี" หรือ "ลงแขก" ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" ปี 5 เพื่อแสดงถึงการขยายผลแนวทางศาสตร์พระราชาจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำชี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวันที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ขยับใกล้เข้ามา คณะจึงได้กิจัดกิจกรรมปลูกต้นดาวเรืองเป็นรูปเลขเก้าไทยเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ให้ดาวเรืองสีเหลืองบานสะพรั่งตรงช่วงพระราชพิธี ก่อนจะร่วมกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ลงหญ้าแฝกเพิ่มความชุ่มชื้นของดินเพิ่มเติม และหยอดเมล็ดถั่วเขียวในพื้นที่ของลุงแสวง อีกทั้งจัดทำฝายและซ่อมคันกั้นน้ำที่เสียหายจากพายุฝนที่คลองประชารัฐในพื้นที่เครือข่ายคริสตจักรนาเรียง

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

ไพโรจน์ กวียานันท์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นำทีมปลูกต้นดาวเรือง

       ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า ศาสตร์พระราชา นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและอีกกว่า 40 ทฤษฎีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่พสกนิกรไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น หากได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติโดยไม่ข้ามขั้นตอน ทุกสิ่งเกิดจากความคิดของตัวเอง หรือที่เรียกว่า "ระเบิดจากข้างใน" ตามหลักการทรงงานของในหลวง ร.9 จะช่วยพัฒนาชุมชนให้อยู่รอด

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

ปลูกดาวเรืองรูปเลขเก้าไทยน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

       "ศาสตร์พระราชา คำสอนของพระองค์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเป็นวาทกรรม แต่ถ้าปฏิบัติอย่างจริงจังจะเปลี่ยนชีวิต การส่งต่อแนวคิดผ่านชุมชนต้นแบบซึ่งเปรียบกับตำราบนดินเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องมีงานวิชาการที่เป็นระบบและมีมาตรฐานรองรับ อนาคตพื้นที่กสิกรรมแห่งนี้ของลุงแสวงจะพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาการเกษตรแบบบ้านๆ เป็นโรงเรียนสอนชีวิต อย่าทิ้งบ้าน ช่วยกันรักษาแผ่นดินเกิด เป็นอีกพลังสำคัญในการสืบสานคำสอนของพระราชา แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแต่คำสอนของพระองค์ควรสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการจัดตั้งสถาบันการศึกษาให้ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชาอาจเกิดขึ้นหรือแทรกในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ประถม มัธยม อุดมศึกษาปริญญาตรี โท จนถึงระดับดอกเตอร์ เกิดลูกศิษย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีบทบาทในการเขียนแผนพัฒนาชาติและจัดทำนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง" ดร.วิวัฒน์ ย้ำ

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

เอามื้อสามัคคีปลูกหญ้าแฝกป้องกันพังทลายของหน้าดิน

       นอกจากนี้ อ.ยักษ์ ย้ำถึงการสืบสานแนวพระราชดำริอีกว่า ทางรอดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้ดูแล้ว ทำไมไม่ทำ ขณะที่ยูเนสโกยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายยูเนสโก เชิดชูศาสตร์พระราชา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสนใจและส่งคนมาอบรมเรื่องศาสตร์พระราชา เพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายช่วยเหลือศูนย์พักพิงหรือค่ายผู้ลี้ภัย จะผลิตอาหารให้พออยู่พอกินอย่างไร เพราะปัจจุบันมีผู้คนอพยพทิ้งบ้านเกิดมากกว่า 60 ล้านคน แต่ยังมีคนไทยส่วนหนึ่งคลั่งไคล้ทฤษฎีฝรั่ง เลียนแบบต่างชาติ

ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง(ความสุข) ด้วย "ศาสตร์พระราชา"

ทำฝายและซ่อมคันกั้นน้ำ เพิ่มความแข็งแรงด้วยวัสดุในพื้นที่

       ด้าน ไพโรจน์ กวียานันท์ กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก วันนี้โครงการขยายผลเกือบทุกลุ่มน้ำทั่วไทยด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จะมุ่งมั่นสนับสนุนศาสตร์พระราชาเพราะเหมาะกับบริบทสังคมไทยตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นกิจกรรมลงมือปฏิบัติมากกว่าแค่การรณรงค์ เป้าหมายนำเกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวคิดโคก หนอง นา โมเดล มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาดิน น้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างคนให้มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หยุดทำลาย โครงการตามรอยพ่อ คิดการใหญ่ แต่ทำทีละเล็กทีละน้อย ทำแบบคนจน เรื่องความรู้เป็นเรื่องใหญ่ 3 ปีแรก วางพื้นฐาน บ้าน วัด โรงเรียน ถือเป็นเสาเข็ม ระยะที่สองขยายผลออกนอกพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล พิสูจน์ว่าใช้ได้กับทุกสภาพภูมิศาสตร์หรือไม่ ซึ่งเหนือ กลาง อีสาน ประสบผลสำเร็จแล้ว มั่นใจถ้าขยายและแตกตัว มีงานวิชาการหนุนชาวบ้าน รวมถึงได้รับการผลักดันระดับนโยบายจะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างแน่นอน

logoline