svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก

13 กุมภาพันธ์ 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

13 ก.พ. #วันรักนกเงือกจรูญ ทองนวล ช่างภาพศูนย์ภาพเนชั่นประจำ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เดินทางไปเก็บภาพนกเงือกในผืนป่าของเทือกเขาบูโด มาให้ได้ชมกัน

นกเงือกหัวแรด ( Rhinoceros Hornbill ) เพศผู้ คาบงูเขียวตุ๊กแกอาหารสุดโปรดนอกเหนือจากเมล็ดพันธุ์และผลไม้ในป่า มาเกาะบนกิ่งไม้ใกล้โพรงไม้บนต้นกาลอ กลางเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อคอยป้อนให้ตัวเมียที่อยู่ไม่ห่างกันนัก ช่วงนี้นกเงือกทุกชนิดจะเริ่มจับคู่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนกตัวเดิม พากันบินสำรวจโพรงเพื่อเตรียมสร้างรังรัก ก่อนที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงเตรียมให้กำเนิดสมาชิกใหม่ ที่จะลืมตาดูโลกนับจากนี้ไปอีกไม่นาน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา (2558)ได้เกิดเรื่องน่าเศร้าใจขึ้นที่โพรงนกเงือกแห่งนี้ เนื่องจากได้มีคนแอบปีนขึ้นล้วงเอาลูกนก พรากไปจากพ่อแม่นกเงือกคู่นี้ที่กำลังอาหารอยู่กลางป่าเตรียมจะกลับมาป้อนให้ลูกที่อยู่ในโพรงเพียงตัวเดียว

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเศร้าใจ แก่ผู้รักนกเงือกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ชาวบ้านรอบๆเทือกเขาบูโด และ ทีมงานโครงการชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปักหลักทำงานวิจัยเชิงอนุรักษ์บนผืนป่าแห่งนี้ มากว่า 20 ปี ซึ่งหลายคนกังวลว่ามันจะไม่กลับมาที่โพรงแห่งนี้อีก

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก



แต่แล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทีมงานฯ ได้ปีนเขาขึ้นไปสำรวจที่โพรงดังกล่าวอีกครั้ง ได้เห็นนกเงือก ผัว-เมีย คู่นี้ได้บินกลับมาสำรวจโพรงอีกครั้ง นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่โพรงไม่ดังกล่าวจะไม่ร้างรักแน่นอน สร้างความตื่นเต้นดีใจกันเป็นอย่างมาก และนับจากนี้อีกไม่นานหลังจากจากช่วยกันทำความสะอาดโพรงเสร็จ ตัวเมียจะเจาะปากโพรงเข้าไปเข้าไปเพื่อให้กำเนิดลูกน้อย จะมีแต่พ่อนกเงือกตัวเดียว ที่ต้องคอยหาอาหารมาป้อนให้ทั้งแม่และลูกนกเงือก

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก



ซึ่งช่วงนี้เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อและสำคัญต่อวงจรชีวิตนกเงือกมาก เพราะหากพ่อนกนกถูกล่า หรือตาย ก็จะทำให้ แม่และลูกนกเงือกต้องตายตามไปด้วย เพราะจะไม่มีอาหารกิน

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก



และหากผ่านช่วงนี้ไปได้ พอลูกนกเริ่มเติบโตจนโพรงที่อาศัยอยู่คับแคบ แม่นกจะเจาะปากโพรงออกมา ช่วยพ่อนก สองแรงแข็งขันหาอาหารมาป้อนลูกน้อย ซึ่งมีทั้งสัตว์ป่าตัวเล็กๆและเมล็ดพันธุ์ไม้ จนถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เมื่อลูกนกแข็งแรงเต็มที่ ก็จะเจาะปากโพรงออกมา เป็นนกเงือกรุ่นใหม่ ออกบินหากินกลางป่ากว้าง

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก


ปัจจุบัน เทือกเขาบูโดมีนกเงือกอาศัยอยู่ 6 ชนิด จากที่สำรวจพบทั้งหมดจำนวน 10 ชนิด ในผืนป่าทางภาคใต้ นับว่ามีมากที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย 13 ชนิด
แม้เทือกเขาบูโดและผืนป่าใกล้เคียงจะมีความอุดมสมบูรณ์แต่ละปีจะมีนกเงือกเกิดใหม่จำนวนมาก แต่ผืนป่าก็ได้ถูกทำลายจำนวนมากเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อวีถีชีวิตนกเงือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้ายนกเงือกได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีหน้ามีตา ยอมรับของสังคมที่มีต่อคนเลี้ยง ทำให้ลูกนกเงือกถูกล่าตามใบสั่งปีละไม่น้อย ในราคาตัวละ 5,000 -10,000 บาท แล้วแต่ชนิดและความยากง่าย ในการดั้นด้นเสาะหาของเหล่านักล่า

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก




อนึ่งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น " วันรักนกเงือก " ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นมากมายทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นให้ ให้หันมาให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้นกเงือกเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากเป็นเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

อีกทั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือวันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก นกเงือกก็นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ในสัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก รักเดียวใจเดียว อยู่ครองรักกันไปจนตายจากกันข้างหนึ่ง

"นกเงือก" สัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นแห่งความรัก


ซึ่งคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกนกชนิดนี้ว่า ( บูรง - ออรัง ) หรือ " นกคน " เพราะ มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวเหมือนมนุษย์

แต่ใครจะรับผิดชอบมากกว่ากัน

ก็ขึ้นอยู่กับสำนึกส่วนตัว ไม่ว่าคน หรือ นกเงือก..........

logoline