svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก

31 กรกฎาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตะลึง!!! นกเงือกกรามช้างปากเรียบ กว่า 1,000 ตัว บินอพยพรอนแรมจากผืนป่าตะวันตก สู่ป่าฮาลาบาลา ติดชายแดนไทย มาเลเซีย

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill : Aceros subruficollis นับพันตัวบินอพยพจากผืนป่าตะวันตก ห้วยขาแข้ง มารวมฝูงที่ป่าฮาลาบาลา อ.เบตง จ.ยะลา นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ในรอบหนึ่งปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง
 ขณะที่กลุ่มงานวิจัยนกเงือกมหาวิทยาลัยมหิดลและตำรวจตะเวนชายแดนที่ 445 ร่วมมือกันติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เตรียมวางตาข่ายดักจับเพื่อติดตั้ง GPS ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม พร้อมสำรวจแปลงพันธุ์ไม้ในป่าที่เป็นอาหารของนก และกันพื้นที่ส่วนในสุดของผืนป่า ป้องกันบุคคลภายนอกเข้าไปรบกวน 

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก


เป็นปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงนี้ หลังจากนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ชนิด ที่พบในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกหรือป่าห้วยข้าแข้ง หลังจากเข้าโพรงและออกลูก เสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จะเริ่มบินอพยพลงมาทางใต้ เพื่อรวมฝูงครั้งใหญ่ผ่านเทือกเขาตะนาวศรี เรื่อยมาจนถึงเทือกบรรทัด มาสิ้นสุดที่ป่าฮาลา บาลา ของไทย และป่าแบลุ่มของประเทศมาเลเซียที่อยู่ติดกันในเทือกเขาสันกาลาคีรี โดยนกเงือกจะจับกลุ่มครั้งละ 10-20 ตัว บินลงมาเรื่อยๆ

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก


 ปัจจุบัน นกเงือกกรามช้างปากเรียบกลุ่มนี้ บินมาถึงป่าฮาลาบาลา แล้วประมาณ 500 ตัว และจากนี้ไปตลอดทั้งปีจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนถึง 2,000 ตัว ก่อนที่จะบินกลับป่าห้วยขาแข้งอีกครั้งหนึ่งตามวงจรชีวิต บริเวณที่พบนกเงือกกรามช้างปากเรียบรวมฝูงกันมากที่สุดขณะนี้ อยู่เหนือขึ้นไปจากฐานปฏิบัติการณ์ของชุดพิทักษ์ป่าพระนามาภิไธย ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 กก.ตชด.ที่44 ค่ายพญาลิไท ต้องเดินเท้าเลียบคลองฮาลาประมาณ 3 ชั่วโมง พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแอ่งน้ำ รายรอบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งนกเงือกจะเลือกต้นไม้บริเวณนี้เป็นที่รวมฝูงในเวลากลางคืน หลังบินกลับจากหาอาหาร

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก

  นกเงือกกรามช้างปากเรียบเป็นนกอพยพ ที่บินมารวมฝูงกันทีละมากๆโดยเฉพาะที่ผืนป่าแห่งนี้ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีนกถึง 2,000 ตัว นับเป็นฝูงใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มีการสำรวจข้อมูลและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการ เพราะนกเงือก 54 ชนิดทั่วโลก จะอาศัยอยู่ในป่าแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น นายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเบื้องต้น

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก

 "เมื่อ 2 ปีที่แล้วโครงการฯได้ติดตั้ง สัญญาน GPS ในตัวนกเงือกกรามช้างปากเรียบจำนวน 2 ตัว เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว เส้นทางบินอพยพ ทำให้ทราบว่า นกเงือกเหล่านี้บินมารวมฝูงกันที่ป่าฮาลาบาลามากที่สุด สอดคล้องกับคำบอกเล่าของคนเผ่าพื้นเมือง โอรังอัสรี หรือ ซาไกที่อาศัยอยู่ในปาแห่งนี้และ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ที่เฝ้าผืนป่ามานาน ปัจจุบัน นกกรามช้างปากเรียบทั้ง 2 ตัว ยังเดินทางมาไม่ถึง ตัวหนึ่งอยู่ที่ป่าแก่งกรุง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ส่วนอีกตัวยังอยู่ที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งในปีนี้จะติดตั้งสัญญาณเพิ่มอีก 2 ตัว เพราะ GPS มีอายุการใช้งานแค่ 2 ปี ขณะนี้เรากำลังเดินสำรวจหาต้นไม้ที่นกมารวมฝูงนอนในเวลากลางคืน และศึกษาทิศทางการบิน เพื่อที่จะวางตาข่ายดักจับมาติดตั้งเครื่องมือติดตาม GPS เพิ่ม วิธีดังกล่าวจะทำให้นกบอบช้ำน้อยที่สุด แต่คนที่ปฏิบัติงานเสี่ยงที่สุด เพราะต้องปีนขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่สูงเกือบ 30 เมตร เพื่อวางตาข่ายซึ่งมีความยาวถึง 20 เมตร"  ปรีดา กล่าว

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก

 ส่วนต้นไม้ที่นกเงือกชอบจับกลุ่มกันนอนจำนวนมาก จะเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นสมพงศ์ ต้นสยา สาเหตุหนึ่งที่นกมารวมฝูงกัน เพราะต้องช่วยกันระวังภัยจากศัตรู และที่สำคัญคือใกล้แหล่งอาหาร ซึ่งในป่าฮาลาบาลา จะมีผลไม้ป่าที่อาหารของนกเงือกจำนวนมาก เช่น ตาเสือ ลูกไทร และสัตว์ขนาดเล็ก เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจและจัดทำแปลงไม้เพื่อศึกษาแหล่งอาหาร ของนกเงือกเพิ่มเติมเป็นโครงการต่อเนื่อง ด.ต.อภิเชษฐ์ เปียฉิม เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 กก.ตชด.ที่ 44 ค่ายพญาลิไท ที่ตั้งฐานฯอยู่บริเวณต้นน้ำปากคลองฮาลา อันเป็นต้นทางที่จะเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน คือฐานนางนวล ซึ่งได้รับมอบนโยบายหลักจากผู้บังคับบัญชาที่ต้องทำหน้าที่ตามปกติ คือการเฝ้าระวัง ป้องกันการบุกรุกตัดไม่ทำลายป่า และล่าสัตว์ แต่ตนและน้องๆ ตชด.ที่ทำงานด้วยกันยังเป็นอาสาสมัคร ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกฯ เนื่องจากมีประสบการณ์เกี่ยวกับผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ได้รับความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับนกเงือกเพิ่มมากขึ้น
"ผมอยู่ที่ป่าฮาลาบาลา มา 5 ปีแล้ว ทำให้รู้จักพื้นที่แห่งนี้พอสวมควร ปัจจุบันได้ร่วมกันเดินลาดตระเวน ตามภูเขา แบ่งพื้นที่ เป็นโซนศึกษาพันธุ์ไม้ ขนาด 40 คูณ 50 เมตร ว่าต้นไม้ชนิดไหนที่นกเงือกชอบมากินผลและเม็ด เพื่อง่ายต่อการติดตามความเคลื่อนไหว และอนุรักษ์ทั้งพันธุ์ไม้และนกเงือก" ด.ต.อภิเชษฐ์  กล่าว

ภาพชุด... มหัศจรรย์นกเงือก




logoline