svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

"ไพบูลย์" สั่งรื้อมาตรฐานการรับคดีพิเศษ

29 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรียุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา สั่งรื้อมาตรฐานการรับคดีพิเศษ เพื่อปิดช่องทางการเมืองแทรกแซง ทุกคดีต้องเสนอบอร์ด กคพ.ก่อนรับสำนวน ห้ามอธิบดีดีเอสไอใช้ดุลยพินิจ

รัฐมนตรียุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา บอกหลังประชุมมอบนโยบายให้กับ ว่าที่อธิบดีดีเอสไอ สุวณา สุวรรณจูฑะ และผู้บริหารดีเอสไอ ว่าได้สั่งการให้ว่าที่อธิบดีดีเอสไอ ไปประชุมร่วมกับ 13 สำนักคดี เพื่อวางแนวทางการรับคดีอาญาทั่วไปเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเจตนารมณ์ในการก่อตั้งดีเอสไอ กำหนดให้มีคณะกรรมการคดีพิเศษหรือ กคพ.ร่วมกันพิจารณาว่าสมควรรับคดีใดเป็นคดีพิเศษ แต่ที่ผ่านมามีการแก้ไขขยายคำจำกัดความของคดีพิเศษ เปิดให้อธิบดีดีเอสไอสามารถใช้ดุลยพินิจว่าจะรับหรือไม่รับคดีใดเป็นคดีพิเศษได้ ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้การเมืองหรือฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซง

พล.อ.ไพบูลย์ บอกว่า ส่วนตัวเป็นรัฐมนตรียุติธรรม แม้จะสามารถสั่งดีเอสไอได้ แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องถูกต้อง จึงต้องการให้ดีเอสไอกลับไปทำงานภายใต้บอร์ด กคพ.อย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม แม้ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ จะกำหนดลักษณะคดี 36 คดี เป็นคดีแนบท้ายให้ดีเอสไอสอบสวนโดยอัตโนมัติ แต่หลังจากนี้ทุกคดีก่อนรับเป็นคดีพิเศษต้องเสนอให้บอร์ดกคพ.พิจารณาอย่างรอบคอบ อาจจะทำให้งานล่าช้าไปบ้างแต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีมากกว่า

รัฐมนตรียุติธรรม บอกด้วยว่าได้สั่งการดีเอสไอทำรายงานสรุปผลการสอบสวนคดีทุกคดีที่ระบุว่าสอบสวนเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 80 เพื่อจะได้รู้ว่าที่ผ่านมาทำงานกันอย่างไร ทำไมดีเอสไอถึงมีภาพลักษณ์เสียหาย โดยจะไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นคดีการเมือง จากการชุมนุมของกลุ่มไหน ไม่ต้องระบุกลุ่ม ให้รายงานเพียงชุมนุมในสถานที่ใด รวมถึงคดีผังล้มเจ้าและคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าจะปฎิรูปดีเอสไออย่างไร และยังอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไออยู่หรือไม่

ส่วนคดีบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีกฎหมายของกระทรวงทรัพย์ และกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว รัฐมนตรียุติธรรมบอก หากดีเอสไอจะเข้าไปทำคดี ต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน เพราะหลายคดีตำรวจก็สอบสวนได้ในส่วนของดีเอสไอจะยังคงรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตามปกติแต่อาจจ่ายไปให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ เว้นแต่เป็นอาชญากรรมพิเศษที่มีความสลับซับซ้อนจริง ๆ
ด้านนางสุวณา บอกว่ารัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจนให้กำหนดหลักเกณฑ์การทำงานในดีเอสไอ โดยให้ใช้ดุลยพินิจน้อยที่สุดการดำเนินคดีควรยึดอยู่ในหลักกฎหมายเพราะความคิดของบุคคลอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ ส่วนตัวตั้งใจทำงานเพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์ องค์กร ให้เป็นที่ยอมรับ และไม่กังวลใจในการเข้ามารับภารกิจอธิบดีดีเอสไอ เพราะที่ผ่านมาได้ทำงาน ในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ยอมรับว่ามีความกดดันในเรื่องภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งการแก้ไขให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือบุคคลในกรม

logoline