svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน หนึ่งเดียวในโลก "มหัศจรรย์ทำบุญร้อยวัด" ในวันเดียว รับงานบุญออกพรรษา

29 กันยายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเพณีจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านหรือทอดผ้าป่า ที่ จ.สุราษฎร์ธานี นับเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวเมืองคนดีที่กระทำควบคู่กับงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวรับงานบุญออกพรรษา ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีของคนริมแม่น้ำตาปี และนับว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้

โดย ประเพณีนี้จะทำในคืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งในวันรุ่งขึ้น แรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็จะทำพิธีทอดผ้าป่ารับงานบุญออกพรรษา โดยจะมีพระสงฆ์ไปทำพิธีรับทอดผ้าป่าในช่วงเช้ามืด จากนั้นมีประเพณีชักพระ ที่มีเรือพนมพระทั้งทางบกและทางน้ำจัดเรือพระตกแต่งอย่างสวยงามกว่าร้อยวัดให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญจนได้ชื่อว่าพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน มหัศจรรย์ทำบุญร้อยวัดในวันเดียวรับงานบุญออกพรรษามีทำกันเฉพาะในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น โดยในปีนี้งานเริ่มระหว่างวันที่ 5 13 ตุลาคม 2557 ณ บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี บริเวณสะพานนริศ และสนามข้างโรงแรมวังใต้
แท้จริงตั้งแต่เดิมมาประเพณีนี้เป็นพิธีหนึ่งทางพุทธศาสนา ที่กระทำต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือพระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้าบังสกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของ ที่ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ห่อศพไว้ตามป่าช้าบ้าง หรือเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทางบ้าง นำมาซักตัดเย็บด้วยตนเองใช้เป็นจีวร ต่อมาเมื่อบรรดาพุทธศาสนิกชนสมัยนั้นเห็นความลำบากของพระภิกษุ จึงได้นำผ้าดีๆ ไปแขวนทิ้งไว้ตามริมทางหรือตามป่าช้าข้างทางที่พระสงฆ์จะผ่านไปมา เพื่อพระสงฆ์จะได้นำไปใช้ประโยชน์

พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน หนึ่งเดียวในโลก "มหัศจรรย์ทำบุญร้อยวัด" ในวันเดียว รับงานบุญออกพรรษา


โดยประเพณีทำพุ่มผ้าป่าที่ทำกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในอำเภอเมืองสืบทอดมายาวนานเช่นกัน ในการจัดพุ่มผ้าป่าจะจัดไว้ที่หน้าบ้านของตนเอง โดยใช้ต้นไม้หรือกิ่งไม้ปักไว้ที่ดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่ากันอย่างสวยงาม บางบ้านที่มีกำลังทรัพย์มีกำลังคนมาก นอกจากจะมีต้นไม้หรือกิ่งไม้ไว้แล้วจะมีผ้าจีวร 1 ผืนห้อยไว้ และมีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุนำมาผูกไว้ที่กิ่งไม้ด้วย เช่น ปิ่นโต ธูป เทียน ยาสีฟัน ไม้ขีด น้ำมัน และยังจัดเป็นซุ้ม
โดยจัดเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ ชาดก สวรรค์ นรก และอื่น ๆ อย่างวิจิตรงดงาม ส่วนผู้ที่มีทุนน้อยก็จะจัดตามกำลังทรัพย์ของตน นอกจากนั้นสถานที่ราชการเกือบทุกแห่งก็จะจัดพุ่มผ้าป่าเช่นเดียวกัน โดยการจัดพุ่มผ้าป่าจะเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณเที่ยงคืน
หลังจากนั้นจะมีประชาชนเที่ยวเดินชมพุ่มผ่าป่ากันเป็นหมู่ ๆ จนกระทั่งสว่างในเวลารุ่งเช้าของวันแรม 1 ค่ำ ประมาณ 05.00 นาฬิกา พระภิกษุจำนวนเท่ากับพุ่มผ้าป่าจากวัดต่างๆ จะจาริกไปยังพุ่มผ้าป่าตามสลากที่ได้รับ ครั้นเวลา 06.00 06.30 น.ก็จะทำพิธีชักผ้า โดยเจ้าของพุ่มและประชาชนที่ร่วมทำบุญกับผ้าป่าจะนั่งลง พนมมือตรงไปยังพุ่มผ้าป่าด้านหน้าตน
เมื่อพระภิกษุชักผ้าเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นพระภิกษุจะจาริกกลับวัด ต่อจากนั้นก็จะมีการชักพระบกที่ตกแต่งรถพนมพระอย่างสวยงามจากหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจอดเรียงรายริมแม่น้ำตาปีโดยทางเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีจัดโซนไว้ระยะทางยาวประมาณ 1-2 กม.ส่วนในแม่น้ำตาปีเรือพนมพระก็จะทยอยเข้ามาจอดเทียบท่าเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญเช่นกัน

พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน หนึ่งเดียวในโลก "มหัศจรรย์ทำบุญร้อยวัด" ในวันเดียว รับงานบุญออกพรรษา


โดยประเพณีจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านนี้นับเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประเพณีหนึ่ง มีปฏิบัติกันเฉพาะในเขตอำเภอเมืองนี้เท่านั้น ที่ทำมายาวนานกว่า100 ปีมาแล้วและระยะหลังนี้ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จ.สุราษฎร์ธานี ยังได้บรรจุในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย เพราะเป็นประเพณีที่ควรส่งเสริมเผยแพร่ให้คงอยู่สืบไปที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในปีนี้นับว่างานประเพณีชักพระ ทอดผ้า และแข่งเรือยาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี 2557 น่าจะยิ่งใหญ่กว่าทุกปี โดยทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยนายธีระกิจ หวังมุฑิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี บอกว่า งานชักพระปีนี้เน้น การจัดประกวดรถพนมพระ เรือพนมพระ และพุ่มผ้าป่าชิงถ้วยพระราชทานฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ การแสดงแสง สี เสียง และกิจกรรมต่างๆที่ย้อนวิถีชีวิตคนริมน้ำซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลกที่ชาวบ้านร่วมกันทำบุญกว่า100 วัดภายในวันเดียว และชมพุ่มผ้าป่าหนึ่งเดียวในโลก
โดยมีเพียงใน จ.สุราษฎร์ธานี เท่านั้น คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเข้าร่วมงานหลายแสนคน รายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 20 -30 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นการย้อนวิถีชีวิตของคนริมน้ำในอดีต โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำตาปีที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เหลืออยู่จนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

logoline