svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ศาลอินเดียล้มธรรมเนียม 3 คำหย่าภรรยาทันที

22 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากนี้ไป ผู้ชายมุสลิมอินเดียหมดสิทธิ์หย่าเมียแบบด่วนทันใจด้วยคำว่า ตาลัก 3 ครั้ง ศาลสูงชี้ขัดรัฐธรรมนูญและศาสนา


               คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอินเดีย 5 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้นับถือศาสนาฮินดู คริสต์ อิสลาม ซิกข์ และโซโรอัสเตอร์ ลงมติด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ให้ยกเลิกธรรมเนียมที่อนุญาตชายมุสลิมสามารถหย่าภรรยาได้ทันที เพียงพูดหรือแจ้งด้วยคำว่า ตาลัก ( talaq ) ภาษาอาหรับที่แปลว่า หย่า 3 ครั้ง เนื่องจากขัดหลักศาสนาอิสลามและละเมิดรัฐธรรมนูญ

               "การอนุญาตให้ผู้ชายคนหนึ่งทำลายชีวิตสมรสได้อย่างแปลกประหลาดและเอาแต่ใจ เป็นการให้อำนาจโดยพลการ และสิ่งใดเป็นบาปตามหลักศาสนา ไม่อาจมีผลตามกฎหมาย" คำพิพากษาระบุ ซึ่งถือเป็นการยุติประเพณีเก่าแก่ที่สตรีมุสลิมจำนวนมากคัดค้าน

               คำตัดสินคดีประวัติศาสตร์ มาจากสตรีมุสลิม 5 คน ซึ่งถูกสามีหย่าด้วยวิธีการนี้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนสองแห่งยื่นคำร้องขอให้ศาลสูงสุดของประเทศชี้ขาดประเพณีเก่าแก่ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ พลาจี ศรีนีวสันต์ หนึ่งในทีมทนาย กล่าวว่า น่าผิดหวังที่ศาลไม่ได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เนื่องจากผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยเห็นว่าควรให้รัฐสภาออกกฎหมายห้าม แทนที่จะเป็นศาล

               ชายารา บาโน หนึ่งในเหยื่อถูกสามีขอหย่าด้วยคำสามคำ กล่าวว่า คำตัดสินของศาลสูงในวันนี้ เป็นประวัติศาสตร์สำหรับสตรีมุสลิม พร้อมกล่าววิงวอนขอให้ผู้คนไม่ทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องการเมือง และยอมรับคำตัดสิน เธอเจ็บปวดอย่างมากตอนที่ครอบครัวแตกแยก และหวังว่าจะไม่มีใครต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันนี้อีกในอนาคต

               ก่อนมาถึงวันพิพากษา การหย่าแบบรวดเร็วทันใจกลายเป็นประเด็นมากขึ้น เมื่อพบว่าผู้ชายมุสลิมหย่าภรรยาด้วยการระบุคำว่า ตาลัก 3 ครั้ง เป็นจดหมายบ้าง โทรศัพท์บ้าง และที่เพิ่มมากขึ้นคือการหย่าด้วยการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp และ Skype มีภรรยาบางคนไม่ยอมและยื่นฟ้องศาล

               ในทางปฏิบัติ สามียังมักออกคำสั่งหย่าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และบ่อยครั้งยังมากับอารมณ์โกรธ ขบวนการเคลื่อนไหวสตรีมุสลิมที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่ถูกขอหย่าด้วยวิธีนี้และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ยื่นฟ้อง เผยว่า จากการสุ่มตัวอย่าง พบว่าผู้หญิง 404 ราย จาก 525 ราย ที่ถูกหย่าด้วยวิธี "ตาลัก" ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษา และเป็นแม่บ้านมาตลอดชีวิต การหย่าร้างทำให้พวกเธอเคว้งคว้างไม่มีที่ไป

               อย่างไรก็ดี แม้ปฏิบัติใช้กันมาหลายสิบปี แต่การหย่าด้วยคำสามคำ ไม่ปรากฏอยู่ในกฎหมายอิสลาม หรือ ชารีอะ และพระคัมคีร์อัลกุระอ่าน นักวิชาการอิสลาม ระบุว่า ในพระคัมภีร์ บัญญัติชัดถึงวิธีการหย่า ที่จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อให้สามีภรรยาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและหันหน้าปรองดอง

               ขณะที่นักเคลื่อนไหวชี้ว่า ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ต่างสั่งยกเลิกไปนานแล้ว แต่กลับแพร่หลายในอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับสองของโลก ส่วนหนึ่งเนื่องจากอินเดียปล่อยให้สถาบันทางศาสนา กำกับเรื่องการแต่งงาน หย่าร้าง และมรดก ให้สอดคล้องกับความเป็นประเทศพหุความเชื่อและศาสนา แต่รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี สนับสนุนให้ยกเลิก เพราะมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังพยายามผลักดันให้ชาวอินเดียทุกศาสนาอยู่ภายใต้กฎหมายครอบครัวฉบับเดียว

logoline