svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

นักวิทย์พบ! หนอนผีเสื้อย่อยพลาสติกได้ไม่ถึง 1 ชม.

26 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักรค้นพบก้าวสำคัญของวิธีการย่อยสลายพลาสติกด้วยหนอนผีเสื้อราตรี จากที่โดยปกติต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตามธรรมชาติหลายร้อยปีเหลือเพียงไม่กี่นาที

ผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานลงวารสาร "ชีววิทยาวันนี้" ระบุว่าในแต่ละปี ทั่วโลกใช้งานพลาสติกโพลีเอทิลีนกว่า 80 ล้านตัน ที่ผลิตออกมาในรูปแบบของทั้งถุงหิ้วพลาสติกถุงบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ แต่เจ้าหนอนผีเสื้อเหล่านี้กลับสามารถกัดถุงพลาสติกจนเป็นรูได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชม.
นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบว่าตัวอ่อนของผีเสื้อราตรี ที่โดยปกติจะกินขี้ผึ้งในรังผึ้งเป็นอาหาร สามารถย่อยสลายพาลสติกได้ โดยพวกมันสามารถสลายพันธะทางเคมีของพลาสติกด้วยวิธีการเดียวกันกับที่พวกมันย่อยขี้ผึ้ง ในภาพการทดลองนี้นักวิจัยใส่หนอนผีเสื้อเข้าไปในถุงพลาสติก10 ตัว ซึ่งพวกมันสามารถย่อยสลายถุงจนออกมาได้ภายในเวลา 30 นาทีเท่านั้น
ดร.เปาโล บอมเบลลี นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า การค้นพบความสามารถนี้ของหนอนผีเสื้อเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการวิจัย ทีมงานยังต้องทำความเข้าใจอีกว่าขั้นตอนการย่อยสลายนี้ทำงานอย่างไร และหวังว่าการวิจัยนี้จะเป็นทางออกเพื่อลดปัญหาขยะจากพลาสติกได้
หลังจากนี้พวกเขาตั้งใจจะเร่งความเร็วในการไขความลับทางเคมีที่อยู่เบื้องหลังการย่อยสลายพลาสติกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่เบื้องต้นทีมงานเชื่อว่าจุลินทรีย์ภายในตัวหนอนผีเสื้อ รวมถึงในแมลงชนิดอื่นๆ อาจจะเป็นตัวการสำคัญที่ย่อยสลายพลาสติก
ขณะนี้ นายบอมเบลลีและเพื่อนร่วมงานคือนางเฟเดอริกา เบอตอชชินี จากสภาวิจัยแห่งชาติเสปนได้จดสิทธิบัตรการค้นพบนี้แล้ว โดยนายบอมเบลลีได้พูดทิ้งท้ายไว้ว่าแม้ตอนนี้จะรู้วิธีย่อยสลายด้วยกรรมวิธีธรรมชาติแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะผลิตพลาสติกโพลีเอทิลีนได้มากขึ้น

logoline