svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

การปฏิวัติการศึกษาเพื่อความอยู่รอดของประเทศ : กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์

22 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัจจุบัน โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จนทำให้การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จนเป็นผลกระทบต่อการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศต่างๆ ไม่สามารถผลิตออกมาได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี


จนส่งผลให้ประเทศไม่สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้อย่างมั่นคงอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาของหลายประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีลักษณะไม่มีความอ่อนตัวและเปลี่ยนแปลงยาก ก็จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในทศวรรษต่อจากนี้
ระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับในระดับนานาชาติ ซึ่งผลออกมามักจะอยู่ในสิบอันดับแรกเสมอมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารด้านการศึกษาก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับเกียรติยศที่ได้รับนี้ แต่กลับมีการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจทำการปฏิวัติระบบการศึกษาครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
โดยผู้บริหารการศึกษาฟินแลนด์ ต้องการเอาวิชาเรียนเดิมๆ ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรให้ไปแทรกอยู่แบบผสมผสานในทุกกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ไม่มีวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ ในหลักสูตรอีกต่อไป โดย Marjo Kyllonen ผู้อำนวยการกรมสามัญศึกษาใน เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า มีโรงเรียนหลายแห่งที่มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบเก่าๆ ที่ล้าสมัย ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในช่วงปี 1900 แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก จึงทำให้สิ่งที่ประเทศต้องการคือหลักสูตรที่เหมาะสมกับการผลิตทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
โดยในแต่ละวิชาจะเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบของสหวิทยาการ (Interdisciplinary) มากกว่าที่จะเน้นทฤษฎี เช่น การศึกษาเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ผสมผสานกันทุกมุม และยังมีการเปิดหลักสูตร Working in a Cafe เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับการทำงานจริงๆ โดยนักเรียนจะสามารถซึมซับความรู้ทั้งหมด เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เศรษฐศาสตร์ และทักษะในการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานกรณ์จริง
ระบบการศึกษาใหม่นี้จะเริ่มใช้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งแนวคิดโดยทั่วไปของระบบนี้ คือการที่นักเรียนควรจะเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และต้องการศึกษาจริงๆ และมีความพยายามที่จะตั้งใจศึกษาเพื่ออนาคตและประสิทธิภาพของพวกเขาเอง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้นักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนในวิชาที่ไม่เกี่ยวข้อง สามารถเรียนรู้ได้อย่างเสรี และฝึกฝนการเอาตัวรอดด้วยตัวเองได้
รูปแบบเดิมๆ ของการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนกำลังจะเปลี่ยนไป นักเรียนไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะในห้องเรียน เพื่อรอครูมาสอน หรือการเรียนแต่ทฤษฎี เน้นการท่องจำ โดยไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้เลย แต่นักเรียนจะมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อถกปัญหากันเพื่อทำให้เกิดการนำความรู้ไปต่อยอดได้ต่อไป
ระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์จะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อครูผู้สอนโดยตรง และที่สำคัญในการปฏิรูป โรงเรียนจะต้องมีการจัดการที่ดีในเรื่องของความร่วมมือระหว่างครูผู้สอนในแต่ละวิชา โดยประมาณร้อยละ 70 ของครูผู้สอนในเฮลซิงกิ ก็ได้มีการดำเนินการดังกล่าวอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามระบบการศึกษารูปแบบใหม่จะต้องมีการเตรียมการเพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่รัฐบาลและผู้บริหารได้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน ในการนี้จะส่งผลให้ครูได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2020
Reference[1] http://www.independent.co.uk/news/world/europe/finland-schools-subjects-are-out-and-topics-are-in-as-country-reforms-its-education-system-10123911.html[2] https://brightside.me/wonder-curiosities/finland-will-become-the-first-country-in-the-world-to-get-rid-of-all-school-subjects-259910/-------------------พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com-------------------หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัลเข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่LINE id : @march4g-------------------

logoline