svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เมียนมาร์เมินคำฟ้องคดีโรฮิงญาในสหรัฐฯ

06 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีเมียนมาร์ตอบโต้รายงานข่าวในสัปดาห์ที่แล้วที่ระบุว่า มีกลุ่มเคลื่อนไหวชาวมุสลิมยื่นฟ้องในสหรัฐกล่าวหาประธานาธิบดีเต็ง เส่งและรัฐมนตรีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมุสลิม ยื่นฟ้องต่อศาลแมนฮัตตันในสหรัฐเมื่อ 1 ต.ค. กล่าวหา ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และรัฐมนตรีหลายคนของเมียนมาร์ ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาด้วยการวางแผนและยุงให้เกิดความเกลียดชังและการแบ่งแยกเชื้อชาติเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกับขอให้ผู้พิพากษาออกหมายเรียกตัว ปธน.เต็ง เส่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ วันนา หม่อง ลวิน และรัฐมนตรีอีกหลายคนมาให้การในคดี

แต่โฆษกประธานาธิบดีเมียนมาร์ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า เมียนมาร์ไม่ใช่ทาสของอเมริกาจึงไม่มีเหตุผลที่เมียนมาร์จะต้องไปต่อสู้คดีในศาลอเมริกา

คำฟ้องนี้ยื่นโดยกลุ่มคณะทำงานเบอร์มา ที่ประกอบด้วยกลุ่มมุสลิม 19 กลุ่ม ร่วมกับชาวโรฮิงญาที่อพยพออกจากเมียนมาร์ไปอยู่ในสหรัฐ คำฟ้องระบุว่า มุสลิมโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทารุณ การกักขังหน่วงเหนี่ยว การเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยการควบคุมจากประธานาธิบดีเต็ง เส่งและรัฐมนตรี โดยในคำฟ้องได้เรียกร้องค่าชดเชย และค่าเสียหาย ตามกฎหมาย Alien Tort Statute (ATS) ของสหรัฐ ซึ่งใช้กับคดีที่ชาวต่างชาติยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคดีละเมิดสิทธิมนุษยนที่เกิดขึ้นนอกดินแดนสหรัฐ

ทนายความของบริษัทที่รับว่าความคดีนี้ เปิดเผยว่า ศาลยังไม่ได้ออกหมายเรียกแต่หากมีหมายเรียกเมื่อไหร่ ผู้นำเมียนมาร์มีเวลา 21 วันที่จะต้องไปตามหมายเรียกและคาดหวังว่าคดีนี้จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลสหรัฐมีอำนาจที่จะดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะสหรัฐเป็นภาคีในอนุสัญญา

ชาวโรฮิงญาเป็นบุคคลไร้รัฐเพราะรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของประเทศ และในปี 2554 เกิดการต่อสู้ระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 รายและกว่า 140,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาต้องอพยพออกจากบ้านเรือน

และในปีนี้เกิดวิกฤตผู้อพยพโรฮิงญาล่องเรือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ความขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติตึงเครียดยิ่งขึ้นก่อนถึงการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.โดยรัฐบาลห้ามชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครเลือกตั้งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากนานาชาติตามมา

logoline