svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

WHO อนุมัติใช้ยาซีแมปป์รักษาอีโบล่า

13 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ยาซีแมปป์ ที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อรักษาผู้ติดเชื้ออีโบล่า หลังการระบาดลุกลามมากขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 1,000 คนและทำให้มีชาวยุโรปเสียชีวิตรายแรกด้วย ขณะที่จีนประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งยีนเชื้อไวรัสอีโบล่า

องค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ ออกแถลงการณ์หลังประชุมผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวาน เพื่อพิจารณาประเด็นจริยธรรมกรณีนำยาที่ยังอยู่ระหว่างทดลองมาใช้กับผู้ป่วยไข้เลือดออกอีโบลาว่า เนื่องด้วยขอบข่ายของการระบาดเวลานี้และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถือว่าไม่ผิดจริยธรรมที่จะใช้วิธีการรักษาที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิผลและผลข้างเคียง แต่มีความเป็นไปได้ในแง่ของการรักษาหรือป้องกัน 
แถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดนับจากพบเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,013 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้สงสัยติดเชื้อ 1,848 คน
ยาซีแมปป์ ผลิตโดยบริษัทยาอเมริกัน "แมปป์ ไบโอฟาร์มาซูคติคอล" ในเมืองซานดิเอโก้ของสหรัฐยังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนา ผ่านการทดลองเฉพาะกับลิง แต่ได้นำไปทดลองใช้กับแพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งทั้งสองคนมีอาการดีขึ้นและบริษัทได้ส่งยาทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังแอฟริกาตะวันตกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ตามที่ได้รับการร้องขอจากประเทศที่มีการระบาด ส่วนการตัดสินใจว่าจะใช้ยาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์ของผู้ป่วย 
ขณะที่บาทหลวงชาวสเปน  มิเกล ปาฆาเรส วัย 75 ปี ที่ติดเชื้ออีโบลาขณะช่วยเหลือผู้ป่วยในไลบีเรีย เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลในกรุงมาดริดของสเปนเมื่อบ่ายวันอังคารเพียง 5 วันหลังกลับมายังประเทศบ้านเกิด แม้ว่าเขาได้รับยาซีแมปป์ด้วยเช่นกันเมื่อวันเสาร์  เขากลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เสียชีวิตจากไวรัสมรณะ 
ขณะเดียวกันบริษัท GENEWIZ ของจีน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตยีนของโลก ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ และโคลนนิ่งยีนเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีบรรดานักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญราว 60 ชีวิต ร่วมกระบวนการสังเคราะห์ และส่งตัวอย่างยีนสังเคราะห์ไปให้กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CCDC) แล้ว เพื่อเตรียมนำไปเป็นลู่ทางในการวิจัย และพัฒนายารักษา ตลอดจนวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาต่อไป 
บริษัทเริ่มต้นกระบวนการสังเคราะห์ยีน เมื่อ 5 ส.ค. และส่งมอบยีนที่สังเคราะห์เรียบร้อยแล้วเมื่อ 8  ส.ค. ซึ่งหวู ซิน รองผู้อำนวยการบริษัท GENEWIZ ระบุว่า หากยิ่งใช้เวลานาน สิ่งต่าง ๆ ก็จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น ความผิดพลาดก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย จึงต้องใช้ระยะเวลาให้สั้นที่สุด
ด้านนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้นานานาชาริอย่าตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุเรื่องการแพร่ระบาด พร้อมกับออกมาตรการเพื่อยับยั้ง พร้อมกับย้ำว่าขณะนี้มีความต้องการเร่งด่วนเรื่องบุคลากรการแพทย์และอุปกรณ์ซึ่งรวมถึงชุดป้องกันและเต้นท์กักโรค โดยเฉพาะในกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ที่มีการระบาดหนักที่สุด

logoline