svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

กทม.จับตา "อีโบลา" ระบาดทวีปแอฟริกา

30 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

 ติดเชื้อแล้ว 3 ประเทศ "กินี-ไลบีเรีย-เซียร์ราลีโอน" กทม.จับตา "อีโบลา" ระบาดทวีปแอฟริกา เชื่อองค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังเข้ม ยันผู้ติดเชื้อไม่เหมือนในหนังซอมบี้แน่ 
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงเชื้อไวรัสอีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดหนักในทวีปแอฟริกาขณะนี้ ว่า โรคอีโบลาเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง จะมีอาการไข้สูง มีโอกาสตับวาย และไตวายได้ง่าย ซึ่งโรคนี้จะติดต่อกันทางสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ทั้งเลือด น้ำมูก น้ำลาย แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวทราบว่าขณะนี้ โรคอีโบล่ายังอยู่ในเขตเมือง เช่นที่เชียร์ราลีโอนก็มีคนติดเชื้อ และบางประเทศเริ่มปิดสนามบินป้องกันแล้ว แต่หากผู้ติดโรคอยู่ระหว่างการฟักตัวของเชื้อและมีการเดินทางออกนอกประเทศก็มีสิทธิที่เชื้อจะเผยแพร่ไปยังผู้อื่นได้ 
นพ.วงวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(ดับบิวเอชโอ) กำลังเฝ้าระวังการระบาดของโรคอยู่ โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่มีมาตรการอะไรพิเศษออกมา แต่หากมีการระบาดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือมีผู้ติดเชื้อออกนอกประเทศก็จะมีมาตรการป้องกันออกมาว่าจะจำกัดการเดินทางหรือไม่ ทั้งนี้ ในอดีตหากมีโรคระบาดชนิดใดเข้าใกล้ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีมาตรการป้องกันและควบคุม 3 เรื่อง คือ 1.แจ้งเตือนประชาชน 2.วางระบบคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งหมด และ 3.เฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยตามโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียด
นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กำลังติดตามและจับตาดูสถานการณ์ ในอดีตก็เคยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก มาแล้วหลายประเทศ เมื่อพบผู้ป่วยก็ต้องมีการแยกไม่ให้ปะปนกับคนทั่วไป เพื่อลดโอกาสการแพร่ของเชื้อ ส่วนโรคอิโบลาก็ยังไม่มีวัคซีน เข้าใจว่าองค์การอนามัยโลกยังไม่ประมาท ถึงแม้การระบาดยังจำกัดในพื้นที่ ตอนนี้ก็ส่งทีมลงไปดูอยู่ ซึ่งโรคนี้ถ้าใครติดเชื้อแล้วจะมีอาการไข้สูง เลือดออกได้ง่าย แต่ไม่มีโรคใดที่ติดแล้วจะเป็นซอมบี้เหมือนในภาพยนต์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีปรากฏการณ์แบบในภาพยนต์แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็ปไซด์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรคอีโบลา ประจำวันที่ 29 ก.ค.2557 ว่า จากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 โดยพบในประเทศแถบแอฟริกาจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน รายละเอียด ดังนี้ ประเทศกินี จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 427 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 311 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 319 คน ประเทศไลบีเรีย จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 249 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 84 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 129 คน และประเทศเซียร์ราลีโอน จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 525 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 419 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 224 คน โดยในประเทศไทยยังไม่เคยพบมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามาก่อน
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลาเริ่มพบครั้งแรกที่ประเทศซูดานเมื่อ พ.ศ.2519 และมีรายงานผู้ป่วยในประเทศยูกันดา เมื่อ พ.ศ. 2543 จำนวน 425 ราย เสียชีวิต 224 ราย นับเป็นการระบาดที่ใหญ่ที่สุดของโรคอีโบลา ต่อมาในพ.ศ.2544 มีรายงานผู้ป่วยในประเทศกาบองและประเทศสาธารณรัฐคองโก จนถึงธันวาคม พ.ศ.2552 มีรายงานผู้ป่วยอีโบลาทั้งสิ้น 1,850 ราย เสียชีวิต 1,200 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 64  ต่อมาในปี 2553 มีรายงานการติดเชื้ออีโบล่าสายพันธุ์เรสตันในสุกรในประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับมีผู้ป่วย 6 ราย ซึ่งเป็นพนักงานในโรงฆ่าสัตว์ที่สัมผัสกับสุกร จึงเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการสงสัยการแพร่เชื้อจากสุกรมายังมนุษย์ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้แต่อย่างใด

logoline