svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คลังชงกระตุ้น ศก. เพิ่มงบเป็น 1.3 แสนล้าน

01 กันยายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คลังเสนอครม.วันนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือน วงเงินเพิ่มเป็น 1.3 แสนล้าน หวังพยุงจีดีพีปีนี้โต 3% พร้อมเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง เน้นสร้างแรงจูงใจให้เอกชนตัดสินใจลงทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ บอกว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (1 ก.ย.) กระทรวงคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 3 มาตรการ คือ
1.มาตรการช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น2.มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐผ่านไปยังตำบลต่างๆทั่วประเทศ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและ 3.มาตรการใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้สะดวกขึ้น และส่งผลดีให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งรับงานมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง บอกว่า มาตรการที่เสนอคณะรัฐมนตรีในวันนี้นั้น จะเป็นมาตรการที่จะเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจระยะ 3 เดือน โดยภายหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว มาตรการดังกล่าวจะเดินหน้าทันทีทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือน จะประกอบด้วย 3 มาตรการ มีเม็ดเงินรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท คือ 1.การปล่อยสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้านวงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 2.จัดสรรวงเงินให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7 พันตำบลวงเงินรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และ 3.จัดงบลงทุนให้ส่วนราชการที่เสนอโครงการลงทุนขนาดเล็กหรือไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาทโดยประเมินว่าทั้ง 3 โครงการนี้ ต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจปีนี้ให้เติบโตได้ราว 3% เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โครงการเหล่านี้ จะต้องเริ่มต้นทันที
สำหรับมาตรการปล่อยสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะร่วมกันปล่อยสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ในเกณฑ์กำหนดกองทุนละ 1 ล้านบาท คือ กองทุนหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานในเกรดเอและบี รวมประมาณ 5.9 หมื่นหมู่บ้าน โดยทั้งสองธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้านระยะเวลา 7 ปีโดยปีที่ 1-2 นั้น จะปลอดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ย 0% ซึ่งรัฐจะสนับสนุนดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นของแต่ละธนาคาร ซึ่งธนาคารออมสินจะมีต้นทุนประมาณ 2.2% ส่วน ธ.ก.ส. มีต้นทุน 1.9% ส่วนปีที่ 3-7 นั้น ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุนเมื่อกองทุนหมู่บ้านได้รับการชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐใน 2 ปีแรก ดังนั้นกองทุนหมู่บ้านต้องไม่คิดดอกเบี้ยแก่สมาชิกในระยะเวลาดังกล่าว จากนั้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3-7 ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านจึงจะคิดดอกเบี้ยจากสมาชิก มีเงื่อนไขว่า สมาชิกต้องไม่นำเงินไปรีไฟแนนซ์หรือคืนหนี้เดิม
สำหรับมาตรการจัดสรรเงินให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7 พันตำบล วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นมาตรการที่เสนอและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะนำมาจากงบกลางปี 2559 พิจารณาอนุมัติโดยสำนักงบประมาณเพื่อให้แต่ละตำบลนำงบส่วนนี้ไปลงทุนในโครงการที่แต่ละตำบลเสนอ เช่น ซ่อมสร้างอาคารสำนักงาน หรือ พัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น
ส่วนมาตรการจัดสรรงบลงทุนในโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาทแก่ส่วนราชการนั้น ได้มีการตั้งวงเงินไว้จำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการนำเสนอโครงการลงทุนที่จะต้องเบิกจ่ายได้เร็วตามระยะเวลาที่กำหนด โดยงบลงทุนส่วนนี้ จะเป็นงบเพิ่มเติมจากงบลงทุนปกติของแต่ละส่วนราชการ
นอกจากนี้ อภิศักดิ์ ยังได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่การลงทุน โดยมอบโจทก์ว่า มาตรการที่จะออกมานี้ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนจริง แม้แต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะขณะนี้ มีหลายโครงการที่ขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มลงทุน โดยรอให้จังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ดังนั้นมาตรการที่จะออกมานี้ จะต้องสร้างแรงจูงใจมากกว่านั้น

logoline