svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เตือนโลกโซเชียลระวัง "กม.ลิขสิทธิ์ใหม่"

04 สิงหาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้เชียวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์แนะ 3 ข้อควรระวังผิดกฎหมาย แนะการแชร์ให้เครดิตต้นฉบับทุกครั้งพร้อมไม่ควรตัดต่อหรือต่อเติม ชี้คนแชร์ที่ทำในเฟซไม่ต้องวิตกมากเพราะไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่หากทำในนามบริษัทร้านค้าต้องระวัง

อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชียวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนที่เรานำภาพ วิดีโอ หรืองานที่มีลิขสิทธิ์อื่นๆที่มีการให้เครดิตแสดงการเป็นเจ้าของอยู่อย่างเช่น มีลายน้ำ ตามกฎหมายฉบับใหม่ ควรระวังอยู่ 3 ข้อ
ข้อ 1 ห้ามมีการลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงในส่วนของการให้เครดิต สิ่งแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างๆ หากแก้ไขโดยไม่มีที่มา จะดำเนินคดีปรับและจำคุกตามกฎหมาย 
ข้อที่ 2 การแชร์ภาพหรือสื่อต่างๆตามโซเชียลมีเดียเป็นการส่วนตัว เช่นไลน์ ยังคงสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ตามกฎหมายบอกไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า จะต้องอ้างอิงแหล่งที่มีของภาพนั้นด้วย
ข้อที่ 3 เดิมในหลายเว็บไซต์ มีการเผยแพร่สื่อที่มีลิขสิทธิ์ เช่น การถ่ายทอดฟุตบอลที่มีลิขสิทธิ์ หรือ เผยแพร่ซีรี่เกาหลี, อเมริกา เป็นต้น ตามกฎหมายใหม่ ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถฟ้องเว็บไซต์ให้ปิดบล็อกที่ให้ข้อมูลตรงนั้น และสามารถดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซต์ได้ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ให้ลิงก์ หรือ ผู้ที่ดำเนินการช่วยเหลือใดๆ โดยการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเทคโนโลยี จะถือว่าเป็นโทษตามกฎหมาย
อ.ไพบูลย์ แนะนำว่า หากต้องการแชร์ลิงก์ โดยถูกต้องและไม่ผิดกฎหมาย คือต้องให้เครดิตขอบคุณชื่อบัญชีผู้เผยแพร่ด้วย ซึ่งถึงจะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ในกรณีที่ผู้แชร์ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ภาพ หรือวีดีโอที่มีลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถยอมความกันได้ 
ผู้สื่อข่าวถาม อ.ไพบูลย์ ถามถึงการแชร์ภาพผ่านไลน์ หรือเฟสบุ๊คว่าผิดกฎหมายหรือไม่ อาจารย์กล่าวตอบว่า สำหรับการส่งต่อภาพผ่านไลน์ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ยกเว้นว่าจะใช้เพื่อการค้า ถึงจะเรียกว่าผิดกฎหมาย เฟสบุ๊คก็เช่นกัน หากเป็นการส่งหรือแชร์ปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหา ยกเว้นเป็นเฟสบุ๊คประเภทบริษัทที่มีการแสวงหาซึ่งผลกำไร ควรต้องระมัดระวัง เพราะถึงแม้จะมีการอ้างเครดิตแล้วก็ตาม ถ้าตัวเจ้าของลิขสิทธิ์พิสูจนน์ได้ว่า เป็นการหาผลกำไรทางอ้อม เจ้าของสิทธิ์ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ก. มีกิจกรรมให้ผู้ชมเข้าร่วมโหวต เพลงหรือภาพต่างๆ เพื่อให้เรตติ้งของเว็ปสูงขึ้น หรือมีการแทรกโฆษณาเข้าไปขายด้วย ทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แม้จะอ้างแหล่งที่มาแล้วก็ตาม
โดยปกติกฎหมายลิขสิทธิ์จะยกเว้นให้เพียง 2 กรณี คือ 1.กรณีผู้ติชมหรือวิจารณ์ 2.เป็นสื่อมวลชน หากจะให้ปลอดภัยมากที่สุด คือไม่ควรนำสื่อลิขสิทธิ์มาใช้เกี่ยวข้องกับบริษัทเลย เพราะหากทางเจ้าของลิขสิทธิ์พิสูจน์แล้วพบว่าเขาเสียผลประโยชน์ เขาสามารถฟ้องได้ เพราะอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เราก็ควรจะติดต่อเจ้าของสิทธิ์อย่างถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการใส่ข้อความไปบนภาพโดยภาพไม่ใช่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง จะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่? อาจารย์กล่าวตอบว่า ในกรณีที่เราวางข้อความบนภาพที่มีลิขสิทธิ์ หรือภาพที่ไม่ใช่ของเราเอง ถึงแม้จะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการดัดแปลง หรือทำให้ภาพเสียหาย และถ้าข้อความหรือความคิดเห็นนั้นเป็นเท็จ จะถือว่าผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ด้วย
"อยากเตือนประชาชน อย่าเพิ่งตื่นกลัวกับข่าวที่แพร่หลายไปทั่วสื่อออนไลน์ในขณะนี้ เพราะนั่นเป็นข้อมูลที่ผิด หากจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องมีการยืนยันความเป็นเจ้าของที่ชัดเจนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถึงจะสามารถดำเนินคดีได้" อ.ไพบูลย์ กล่าว

logoline