svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เหตุนิยามเงินกู้ คือเงินแผ่นดิน

30 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การบัญญัติ นิยามเรื่อง เงินแผ่นดิน ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างรธน.หวังว่า จะช่วยอุดช่องโหว่และป้องกันไม่ให้มีการกู้เงินนอกงบประมาณมาใช้เหมือนในอดีต ไปติดตามจากรายงาน

ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่นิยามความหมายของคำว่า เงินแผ่นดิน ไว้ในรัฐธรรมนูญ เหตุผลสำคัญเพราะ หากย้อนกลับไปปี 2556 เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมถึงความพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายหรือไม่ ในขณะที่แกนนำรัฐบาลต่างออกมายืนยันว่าเงินกู้จำนวนนี้ ไม่ใช่เงินแผ่นดิน เป็นเพียงการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศ
มีคำถามกลับมาทันทีว่า หากนี่ไม่ใช่เงินงบประมาณ แต่ทำไมสุดท้าย ก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชน ซึ่งเป็นเงินแผ่นดิน ไปชำระหนี้ในส่วนนี้ แต่การกู้เงินนอกงบประมาณลักษณะนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก รัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยกู้เงินมาใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านในปี 2552 เช่นกัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเรื่องนี้ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง
หลักการใหม่ของหมวดการคลังและงบประมาณ ยังบัญญัติให้การใช้งบประมาณแผ่นดินต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล วินัยการเงินการคลัง เน้นความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยบัญญัติให้จัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีแบบ 2 ขา คือแยกรายรับ และรายจ่ายให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 35 วรรค 7 และวรรค 8 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทีกำหนดให้ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างเฉพาะความนิยมทางการเมือง จนสุดท้ายก่อให้เกิดความเสียหายตามมาต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

logoline