svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กกพ.เผยมี 2 ปัจจัย ที่จะทำให้ค่าไฟปีหน้าทะลุ 4 บาทต่อหน่วย

20 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.หวั่นปีหน้าค่าไฟฟ้าทะลุ 4 บาทต่อหน่วยจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีตามสัญญาระยะยาว ขณะที่แหล่งก๊าซพม่าและเจดีเอ หยุดซ่อมบำรุง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เผยมีความกังวลว่าอัตราค่าไฟฟ้าในปีหน้า อาจมีการปรับขึ้นจนเกิน 4 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทุกประเภทอยู่ที่ระดับ 3.96 บาทต่อหน่วย เนื่องจากจะมีปัจจัยสำคัญคือการที่ ปตท.จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) จากกาตาร์ตามสัญญาระยะยาว จำนวน 2 ล้านตันต่อปี โดยราคาแอลเอ็นจีนำเข้าจะมีราคาที่สูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องแหล่งก๊าซเจดีเอ และแหล่งก๊าซในพม่า ที่จะหยุดซ่อมซึ่งจะทำให้มีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น และจีมีผลกระทบต่อค่าเอฟที

ในปีหน้าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงมากในช่วงนี้ จะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับลดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า รวมทั้ง กกพ.จะมีการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ที่จะปรับให้ค่าเอฟทีกลับมาเป็นศูนย์ จากปัจจุบัที่ค่าเอฟทีช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม อยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย จึงจะต้องรออยู่ว่าในภาพรวมอัตราค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าอัตราค่าไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่ยังอยู่ในระดับ 2.73 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วยในปี 2557 ซึ่งการปรับขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้า จะเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 3 ปีย้อนหลังคือปี 2554 อยู่ที่ 3.16 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.48 บาทต่อหน่วย ในปี2555 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.78 บาทต่อหน่วยในปี 2556เหตุผลสำคัญมาจากการนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าก๊าซในอ่าวไทยกว่าเท่าตัว มาใช้

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ฉบับใหม่จะต้องมีการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของเชื้อเพลิง เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพื่อที่จะมีก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกกว่าแอลเอ็นจีนำเข้ามาใช้ให้ได้มากที่สุด

เพราะประเทศต้องมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่จะมีปริมาณสำรองลดน้อยลงเรื่อยๆ คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าจะเพิ่มสูงเป็น 6 บาทต่อหน่วยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เพราะมีต้นทุนพลังงานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณาผลการคำนวณค่าเอฟทีในงวดเดือนกันยายน ถึงธันวาคม 2557โดยได้มีมติเห็นชอบให้คงค่าเอฟทีไว้ที่ 69.00 สตางค์ต่อหน่วยเท่าเดิม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยให้ กฟผ. รับภาระส่วนต่าง 2.66 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นเงิน 1,426 ล้านบาท เป็นการชั่วคราว

จากอัตราค่าเอฟทีที่คำนวณได้ 71.66 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ในการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน กกพ.อาจจะปรับรวมภาระส่วนนี้ เข้ามาอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานแทน
















logoline