svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กนง.มติเอกฉันท์คง ดอกเบี้ย 2%

18 กันยายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กนง.มติเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 เสียงคงดอกเบี้ย 2% ย้ำนโยบายการเงินผ่อนคลายยังจำเป็น เพื่อเอื้อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะเริ่มแรก มั่นใจนโยบาย การเงินโลกที่แตกต่าง ไม่กระทบไทย ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ชี้เป็นสัญญาณ เริ่มแรกของดอกเบี้ยขาขึ้น เชื่อกลางปีหน้า ได้เห็น กนง.ขยับขึ้นดอกเบี้ย

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะคณะกรรมการนโยบาย การเงิน(กนง.) เปิดเผยว่า กนง.มีมติเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ขณะเดียวกันกนง.ยังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ ทั้งปีนี้และปีหน้าใหม่ รวมถึงตัวเลขการส่งออก โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ก.ย.นี้

การประชุมครั้งนี้มี กรรมการ 2 ท่าน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมโดยแจ้งว่าติดภารกิจ ซึ่งทั้ง 2 ท่าน คือ นายณรงค์ชัยอัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

"กนง. ประเมินว่า นโยบายการเงิน ที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็น ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ด้านเสถียรภาพการเงิน กนง. จึงมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ต่อปี"นายเมธีกล่าว

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดเล็กน้อย โดยมีความแตกต่างระหว่างภูมิภาค การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นยังอ่อนแอ แต่น่าจะได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวได้ตามคาด และเศรษฐกิจเอเชียโดยรวมยังขยายตัว ได้ใกล้เคียงเดิม การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวช้าๆ


ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายในประเทศของครัวเรือน ธุรกิจ และภาครัฐเริ่มฟื้นตัวและส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น และจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระยะต่อไป

ส่วนข้อจำกัดด้านการผลิต และปัญหาราคาสินค้าเกษตรมีผลต่อการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก่อนปรับเข้าสู่ระดับปกติ ส่วนระบบการเงินและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ "กนง.มีความเป็นห่วงส่งออกที่ต่ำกว่าคาด อยู่บ้าง ตัวเลข 7 เดือนแรกยังต่ำ ส่วนตัวเลขประมาณการส่งออกใหม่จะแถลงในสัปดาห์หน้า"

แม้การส่งออกจะต่ำกว่าที่ กนง.คาดการณ์ไว้ แต่ได้อุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้นมาช่วยชดเชย สิ่งที่ กนง.จะติดตามดูจากนี้ไป คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไปได้ต่อเนื่องหรือไม่

"เรายังมองเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบวีเชฟ เพราะจากสัญญาณหลายตัวออกมาดีขึ้น ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการบริโภค แม้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติ แต่เห็นการบริโภคสินค้าไม่คงทนเริ่มกลับมาเติบโตดีรวมทั้งการค้าปลีก"

เสถียรภาพการเงินมีสัญญาณดีขึ้น สำหรับคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นภาคการบริโภคหรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่าคงต้องดูเป็นรายมาตรการ แต่ถ้าดูภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเองก็เริ่มกลับมาแล้ว และรายได้ของผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเองก็ยังอยู่ระดับที่ดี เชื่อว่าทั้ง 2 ตัวนี้น่าจะพยุงให้การบริโภคขยายตัวได้

"การฟื้นตัวคงต้องใช้เวลาบ้าง แต่การไปกระตุ้นนั้น ถ้าเป็นการกระตุ้นเกินจริง ในอดีตมีให้เห็นอยู่แล้วว่ามันไม่ยั่งยืน กระตุ้นได้เพียงแค่เล็กน้อยสุดท้ายก็กลับมาชะลอเหมือนเดิม" ถ้ามองภาพรวมเสถียรภาพการเงินในขณะนี้ ถือว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งหนี้ครัวเรือนที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มกลับมาได้ ซึ่งการกลับมาของอสังหาฯในรอบนี้เป็นลักษณะของการระบายสินค้าเดิมที่มีอยู่ออกไป

นโยบายการเงินโลกที่เริ่มจะมีความแตกต่างในระยะข้างหน้าว่า แม้เวลานี้จะเริ่มเห็นความแตกต่าง แต่ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยยังไม่ได้มากนัก คงต้องรอดูอีกระยะว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นเสมอไปที่ นโยบายการเงินโลกที่มีความแตกต่างจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยผันผวนมาก เพราะเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไปยังภูมิภาคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับของไทยก็ได้ เพียงแต่ยังต้องติดตามดู และเท่าที่ดูในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเริ่มเห็นสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้านนายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ถ้อยแถลงของ กนง.ที่ออกมาครั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งบอกของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นจะปรับขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยเฉพาะที่ระบุว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนยังมีความจำเป็น ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งถ้าตีความในส่วนนี้อาจบอกได้ว่า กนง.จะเริ่มพิจารณาถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในระยะ ข้างหน้า

ในมุมมองของ ศูนย์วิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ยังมองว่าดอกเบี้ยนโยบายคงจะปรับขึ้นได้ในไตรมาสสองของปีหน้า โดยเรามองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ การเติบโตจะยังอยู่ที่ระดับ 3-4% แต่จะเริ่มเห็นการเติบโตที่มากขึ้นในไตรมาส 1 ปีหน้าที่ระดับ 5-6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะทราบผลคือในไตรมาส 2 ของปีหน้าดังนั้นถ้าเศรษฐกิจออกมาดีตามที่คาดไว้จริง ก็คงได้เห็น กนง. เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ระบุเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าต้องจับตาดูในระยะต่อไปคือ การประสานนโยบายระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังว่าจะเป็นอย่างไร เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ชัดเจนว่า จะประสานนโยบาย เหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่วนโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่าเป็นกลางปีหน้า

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สัญญาณจากการประชุม กนง. รอบนี้ถือว่ายังไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมากนัก โดย กนง. มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังเติบโตได้ดีอยู่ดังนั้นโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงจึงเป็นไปได้ยาก สำหรับแนวโน้มที่ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นนั้น นายเชาว์มองว่า เร็วสุดคงช่วงกลางปีหน้า เพราะไม่ได้มีปัจจัยที่เร่งให้ กนง. ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำราว 2.1%หรือถ้าจะดูเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 2.2% ก็ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้

logoline