svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"คอรัปชั่นกรณีการศึกษา โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด"

22 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลศึกษาทีดีอาร์ไอ ระบุรัฐขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว 5.19 แสนล้านบาท หรือ 53% ของค่าใช้จ่ายรวม 9.85 แสนล้านบาท แนะแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายงบประมาณรายจ่าย สำหรับโครงการประชานิยม พร้อมจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ นิพนธ์ พัวพงศกร กล่าวถึงผลการศึกษา "การคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" ที่ศึกษาพฤติกรรมการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 5 รอบในฤดูการผลิตปี 2554/55 จนถึงปี 2556/57 ว่า ได้ข้อสรุป 4 ประการ
ประการแรก แม้ชาวนาทั่วประเทศจะได้รับผลประโยชน์ส่วนเกิน เป็นมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนารายกลางและรายใหญ่ และโครงการนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อสังคม โดยมีค่าใช้จ่ายรวมถึง 9.85 แสนล้านบาท และเงินที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา ขณะที่ผลดำเนินงานขาดทุนทางบัญชีสูงถึง 5.19 แสนล้านบาท หรือเกือบ 53% ของค่าใช้จ่าย 
ต้นตอของการขาดทุนจำนวนมหาศาลเกิดจาก การรับจำนำข้าวในราคาสูงแต่ขายในราคาต่ำเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคซื้อข้าวราคาแพง และการทุจริตโดยขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด หากนับรวมผลประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในโครงการ ผบว่าต้นทุนสวัสดิการหรือความเสียหายสุทธิต่อสังคม สูงถึง 1.23 แสนล้านบาท 
ประการที่สอง จากการประเมินมูลค่าการทุจริตจากการระบายข้าวในราคาต่ำ พบว่ามูลค่าทุจริตสูงถึง 84,476.20 ล้านบาท และยังพบการทุจริตโดยโรงสีบางแห่งร่วมกับนายหน้าผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ลักลอบนำข้าวจากโรงสีในโครงการไปขายก่อนแล้วนำมาคืนภายหลัง และจากรายงานของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีข้าวบางส่วนที่ไม่ได้นำมาคืน ซึ่งคาดว่าจะมีความเสียหายอีกประมาณ 6.5 พันล้านบาท ความเสียหายดังกล่าวนี้ยังไม่รวมการทุจริตที่เกิดในช่วงต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น การจดทะเบียนเกษตรกรเกินจริง การขายสิทธิ์ให้โรงสี การซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน การนำข้าวนอกโครงการจำนำมาขายให้รัฐบาล การออกใบประทวนปลอม 
ประการที่สาม เมื่อการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดค่าเช่าเศรษฐกิจหรือกำไรพิเศษจำนวนมหาศาล เกษตรกรและโรงสีจึงมีพฤติกรรมแสวงหากำไรพิเศษจากโครงการจำนำข้าวด้วยวิธีการเพิ่มกำลังการผลิตของตนเอง โดยเพิ่มการใช้ปุ๋ย ฉีดยา และดูแลแปลงและควบคุมระดับน้ำมากขึ้น ขณะที่โรงสีในโครงการลงทุนขยายกำลังการผลิต ทำให้กำลังการผลิตของโรงสีในปัจจุบันสูงถึง 100 ล้านตันต่อปี ทั้งที่ไทยผลิตข้าวเปลือกได้เพียงปีละ 35 ล้านตัน ส่วนเจ้าของโกดังก็ลงทุนขยายความจุโกดังข้าว การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงเป็นความสูญเปล่าของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ประการที่สี่ รัฐบาลบริหารจัดการนโยบายรับจำนำข้าว แบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐสภา ปล่อยปะละเลยปัญหาการทุจริตในการระบายข้าว ไม่ใส่ใจกับรายงานข้าวหายจากโกดังกลาง แต่กลับสั่งตั้งกรรมการสอบสวนประธานคณะอนุกรรมปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว การโกหกประชาชน และปิดบังข้อมูลการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รวมทั้งปล่อยให้ค่าใช้จ่ายของโครงการรับจำนำบานปลาย เช่น ยอมให้เกษตรกรขายข้าวให้โครงการเกินปริมาณที่มีสิทธิ์ตามใบทะเบียนเกษตรกร
ทีดีอาร์ไอได้มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ คือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายงบประมาณรายจ่ายสำหรับโครงการประชานิยม 2.จัดทำบัญชีรวมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ 3.การเปิดเผยข้อมูลโครงการประชานิยมทุกโครงการ 4.การจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด 5.การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว 6.เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติการประกันราคาพืชผลเกษตร 7.รัฐควรเร่งปรับปรุงระบบข้อมูล และวิธีการบริหารการจ่ายเงินชดเชย 8.แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน คือ การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลิตภาพการผลิต

logoline