svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สศอ.แนะอุตฯ เครื่องแต่งกาย ย้ายฐานผลิตไปเมียนมาร์

20 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศอ.แนะอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายย้ายฐานการผลิตไปเมียนมาร์ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการปรับค่าแรง 300 บาท

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. สมชาย หาญหิรัญ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบการที่มีถึง 73,503 โรงงาน มีการจ้างงานรวม 796,000 คน สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศเฉลี่ยปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึง 79,554 ล้านบาท
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง รวมทั้งผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยผลศึกษาระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด หรือประมาณ 7.7% ของต้นทุนการผลิต
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือ การขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งกำลังเริ่มเปิดประเทศ มีแรงงานจำนวนมากและอัตราค่าแรงต่ำ อีกทั้งแรงงานพม่ายังมีทักษะใกล้เคียงกับแรงงานไทย และไทยกับพม่ายังมีพรมแดนติดกันหลายจุด จึงเหมาะแก่การขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำที่ไทยมีความพร้อม เพื่อนำเข้าไปผลิตในเมียนมาร์ และที่สำคัญเมียนมาร์ยังเป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตสูง

จากการศึกษาโอกาสและอุปสรรคในการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไปประเทศเมียนมาร์ พบว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เช่น ประเทศเมียนมาร์มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวเมียนมาร์มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น และยังมีประชากรถึง 65 ล้านคน ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังแรงงานเท่ากับ 31.8 ล้านคน มีอัตราว่างงาน 4% ต่อปี จึงมีจำนวนแรงงานเพียงพอ และประเทศเมียนมาร์ยังมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี
ส่วนอุปสรรคของการลงทุน เช่น อัตราภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่อยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เรื่องการทำงานที่ยังขาดการบูรณาการของรัฐ เพราะยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบการไปลงทุนในต่างประเทศโดยตรงที่สามารถให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยปัจจุบันภาระหน้าที่นี้อาศัยการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สถานทูต อีกทั้งแรงงานเมียนมาร์ยังขาดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เช่น ทักษะการตัดเย็บ การออกแบบ การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี

logoline