svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทัวร์หวั่นมาตรการวีซ่าล่าช้า เสี่ยงต้นทุนอ่วม

29 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทัวร์ห่วงมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ตลาดจีนประกาศใช้ไม่ทันกำหนด หวั่นเอเยนต์ไทยแบกรับต้นทุนอ่วม หลังเริ่มโฆษณาประกาศขายนักท่องเที่ยวไปแล้ว


ด้านทีเส็บชี้ตลาดไมซ์ยังได้จีนขับเคลื่อนหลัก สบช่องเร่งพัฒนาหลักสูตรเข้าสถาบันการศึกษานายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการนำเที่ยวตลาดจีน ทั้งเอเยนต์ทัวร์ในจีนและไทยต่างกังวลเป็นอย่างมากว่า มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและไต้หวัน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่าจะให้ดำเนินนโยบายเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.57 ถึง 31 ต.ค.นั้น ในขณะนี้เข้าใกล้กำหนดดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่มีประกาศที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเลย ทำให้บริษัทคู่ค้าในต่างประเทศต่างสอบถามเข้าจำนวนมาก เพราะฝ่ายดังกล่าวได้ดำเนินการติดต่อกับสถานฑูตและสถานกงสุลในจีนไปแล้ว แต่กลับได้รับคำตอบว่ายังไม่ได้รับคำสั่งให้งดจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวแต่อย่างใดทั้งนี้ หลังจากการประกาศจาก คสช.ดังกล่าว บริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่ได้โฆษณามาตรการฟรีค่าธรรมเนียมไว้ในการขายแพ็คเกจทัวร์มาไทยไปแล้ว ดังนั้น หากไม่สามารถประกาศได้ทันวันที่ 1 ส.ค.นี้ ผลกระทบจะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการในการแบกรับภาระค่าวีซ่าเอง ซึ่งแนวโน้มขณะนี้ จากการพูดคุยกับเอเยนต์ทัวร์ในจีน พบว่าอาจปัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาให้บริษัทในไทยเป็นผู้รับชอบหากไม่เร่งประกาศมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมออกมาให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ ผลกระทบด้านต้นทุนวีซ่าจะมาอยู่ที่บริษัททัวร์ทันที และถือเป็นเรื่องเสียหายในเชิงภาพลักษณ์ของประเทศด้วยว่า ประกาศแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งๆ ที่หลังจากประเด็นนี้กลายเป็นข่าวขึ้นมา บริษัททัวร์ในจีนและนักท่องเที่ยวเองก็ให้ความสนใจในการเดินทางมาไทยสูง และเริ่มมียอดขายแพ็คเกจทัวร์ดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น จึงต้องการให้เกิดความชัดเจนด้วยว่า หากจะเริ่มนโยบายนี้ จะดำเนินการได้เมื่อใดสำหรับสถานการณ์ของตลาดจีนในช่วง ส.ค.-ต.ค. คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยราว 2.5 3 แสนคนต่อเดือน หรือรวมราว 8-9 แสนคน ซึ่งแม้จะไม่สามารถฟื้นตลาดมาได้เร็วจนเทียบเท่าปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันนี้ราว 1 ล้านคน แต่ก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมากระตุ้นตลาดเลยนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่า ตลาดจีน ถือเป็นตลาดที่สำคัญของธุรกิจไมซ์ในไทยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มประชุมสัมมนาที่มีส่วนสำคัญในเป้าหมายรายได้ 8.7 หมื่นล้านบาทในปงบประมาณนี้ และ 9.6 หมื่นล้านบาทในปีหน้า เนื่องจากยังมีงานขนาดใหญ่ที่ยืนยันการจัดงานในไทย อาทิ เดือน ต.ค.นี้ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) ให้กับบริษัทยูนิซิตี้ ดำเนินธุรกิจเครือข่ายขายตรง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน รวมถึงบริษัทเฮอบาไลฟ์ ที่เตรียมมาจัดงานในลักษณะเดียวกัน ยอดรวมทั้งสองงานจึงคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนอย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า แม้ว่าการปัญหาการเมืองที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นไปบ้าง และทำให้ตลาดหลักของธุรกิจไมซ์อย่างการจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (มีทติ้ง และ อินเซนทีฟ) ลดลงไปราว 10% แต่สำหรับตลาดการจัดสัมมนาและการแสดงสินค้า (คอนเวนชั่น และ เอ็กซิบิชั่น) ยังคงมีจำนวนลูกค้าสม่ำเสมอ และเมื่อประกอบกับการคาดการณ์ของ ทีเส็บ ว่าปีหน้าโอกาสที่ตลาดจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับปกติราว 5-10% นั้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังมีความกังวลว่า เมื่อถึงเวลาดังกล่าว จะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์เข้ามาเสริมตลาดดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ทีเส็บ จึงร่วมมือกับ 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน ในการพัฒนาหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล หรือ ไมซ์ 101 เป็นประเทศแรกในเอเชีย โดยจะผลักดันหลักสูตรเข้าสู่สถาบันอาชีวศึกษา 27 แห่ง คาดว่าจะผลิตบุคลากรเข้าสู่ธุรกิจได้ราว 5 พันคนต่อปี และเพิ่มเป็น 2 หมื่นคนภายในปี 2558 สามารถรองรับการเปิดเออีซีได้พอดี
ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บท 5 ปีขององค์กรในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ระหว่างปี 2555-2559 โดยนอกจากหลักสูตรดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาไมซ์ และการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กับต่างประเทศ หรือ ไมซ์ อะคาเดมี เอ็กซเชนจ์ โปรแกรม ด้วย โดยมีเป้าหมายให้บุคลากรของไทย มีความสามารถในการไปทำงานในต่างประเทศ ตามการขยายตัวของธุรกิจรับจัดงาน (ออกาไนเซอร์) ที่ปัจจุบันเริ่มขยายฐานไปยังประเทศในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) เพิ่มมากขึ้น

logoline